• @TOM NEWS
  • Nov-Dec 2021

Carol นวนิยายหญิงรักหญิงเรื่องสำคัญที่ควรค่าแก่การอ่าน

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
คู่ควรกับการเป็นหนังสือเล่มสำคัญของประวัติศาสตร์วรรณกรรม LGBTQ+ จริงๆ! นี่คือนวนิยายหญิงรักหญิงที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 ยุคที่คนรักเพศเดียวกันยังถูกต่อต้านจากสังคม เป็นเรื่องผิดบาป ฉาวโฉ่ น่าละอาย และชาว LGBTQ+ หลายคนต้องหลบซ่อนตัวตนจากสังคม หรือไม่ก็ถูกฉีกเนื้อเถือหนังด้วยศีลธรรมอันดี ยิ่งเมื่อมันเป็นหนังสือที่บอกกับชาว LGBTQ+ ทุกคนว่า สิ่งที่พวกเค้าเป็นอยู่มันโอเค ถึงจะต้องแลกกับอะไรอีกมากมาย หรือมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับสังคม แต่มันก็มีความหวังอยู่ที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิดนะ นี่ล่ะที่ทำให้เรายกย่องหนังสือเล่มนี้

The Price of Salt เป็นผลงานของ Patricia Highsmith นักเขียนชาวอเมริกันผู้เป็นเจ้าของนวนิยายแนวระทึกขวัญชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ Strangers on a Train (ถูกนำไปสร้างเป็นหนังโดย Alfred Hitchcock) และ The Talented Mr. Ripley (ถูกนำไปสร้างเป็นหนังโดย Anthony Minghella) โดยในการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 นั้น เธอเลือกใช้นามแฝงว่า Claire Morgan ด้วยบริบทของสังคมในยุคนั้น ก่อนที่จะมีการหยิบมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 1990 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อนวนิยายจาก The Price of Salt เป็น Carol และแปะชื่อ Patricia Highsmith ในฐานะผู้เขียนจริงอย่างเป็นทางการ

นี่คือเรื่องราวของ “เทรีส” เด็กสาวผู้มีความฝันอยากเป็นนักออกแบบฉากละครเวที แต่ลงเอยด้วยการทำงานเป็นพนักงานขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าเพื่อหาเลี้ยงชีพ พลางครุ่นคิดตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต การงาน และความฝัน แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้พบกับ “แครอล” หญิงสาวผู้มีเสน่ห์ดึงดูดที่เดินเข้ามาซื้อสินค้าตรงเคาน์เตอร์ที่เทรีสทำงานอยู่ จากตรงนั้นเองที่ความสัมพันธ์อันไม่น่าเป็นไปได้ได้ก่อตัวขึ้น แต่ทุกอย่างมันจะง่ายดายเช่นนั้นหรือ เทรีสไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแครอลรู้สึกเช่นไร หรือที่แย่ไปกว่านั้น เธอเองรู้สึกเช่นไร ไหนจะแฟนหนุ่มของเทรีสที่เร่งเร้ารอความคืบหน้าในความสัมพันธ์ และไหนจะชีวิตครอบครัวของแครอลที่กำลังขมวดแน่นด้วยความตึงเครียดอีกล่ะ

แน่นอนว่า หลายคนรู้จักหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่มันถูกนำไปสร้างเป็นหนังในปี 2014 แต่พอเราได้อ่านเวอร์ชั่นหนังสือก็พบว่า บรรยากาศและมวลอารมณ์ในสื่อทั้งสองชนิดต่างกันอยู่มากทีเดียว เพราะห้วงความคิดของเทรีสนั้นพลุ่งพล่านตลอดเวลา ทั้งการตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเธอ ความรู้สึกนึกคิดที่เธอมีต่อแครอล ไปจนถึงเรื่องยุ่งยากที่เกิดขึ้นมากมายก็ทำให้กราฟอารมณ์ของเทรีสวิ่งขึ้นวิ่งลงจนเรากลัวเธอจะเป็นบ้าไปเสียก่อน แต่นี่ล่ะคือเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ มันทำให้เราคิดถึงวัยเยาว์ของตัวเอง การค้นพบตัวเองก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การเอาตัวตนที่แท้จริงของเราเปิดเผยออกมาสู่โลกภายนอก และผู้คนอื่นๆ ก็เป็นอีกเรื่อง ไหนจะความลังเลไม่แน่ใจว่าคนที่อยู่ข้างๆ จะคิดเหมือนกันหรือเปล่า ไหนจะความหวาดหวั่นที่สังคมจับจ้อง และต้องดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปได้นั่นอีกล่ะ โดยต้องไม่ลืมบริบทของสังคมที่ตัวละครอยู่ด้วย นี่คือยุค 50 ที่แทบไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเหยียบยืน และผู้หญิงเป็นได้แค่เมีย แม่ หรือถ้าจะทำงาน พวกหล่อนก็มีกรอบที่ขีดเส้นตีอยู่ แล้วพื้นที่ของชาว LGBTQ+ ล่ะ จะยืนอยู่ตรงไหนกัน

ชอบความสัมพันธ์แสนซับซ้อนของเทรีสและแครอลด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องวัยที่แตกต่าง แต่มันยังมีเรื่องสังคม ชนชั้น พื้นเพ ไปจนถึงประสบการณ์ชีวิต ชอบจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ที่ทำให้เทรีสได้เติบโตขึ้นมากๆ ด้วย เราต่างรู้ดีว่า ความเจ็บปวดในความสัมพันธ์ทำให้เราเติบโตขึ้น แม้ว่ามันจะไม่สวยงาม แต่มันทำให้เราแกร่งขึ้น แล้วเมื่อเทรีสกลายเป็นคนใหม่ในช่วงท้าย เราจึงสามารถมองเทรีสและแครอลในแง่ของความเป็นไปได้ที่มากกว่าเดิม