• @TOM NEWS
  • Nov 2022

เมื่อไหร่ เมื่อนั้น (A Distanced Lullaby) ละครเวทีที่ว่าด้วยมิตรภาพของแก๊งเกย์ชรา

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
แม้จะเป็นเพียงแค่การแสดง “อ่านบทละคร” (Playreading) ที่ให้นักแสดง 5 คน + ผู้บรรยายเรื่องอีก 1 คน นั่งอ่านบทให้เราฟัง แต่แค่นี้เราก็ตกหลุมรักละครเรื่องนี้แล้ว มันช่างมีชีวิตชีวา อบอุ่น หม่นเศร้า และเจ็บปวด ที่น่าทึ่งคือมวลอารมณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงเลยด้วยซ้ำ ขอปรบมือให้กับบทของ “ชวน - จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ” ดังๆ ชอบเหลือเกินเวลาชวนเขียนบทสนทนาเรียบๆ ง่ายๆ ที่ซ่อนสิ่งที่อยากสื่อสารไว้ในเสียงหัวเราะตลกขบขันของตัวละครแบบนี้

นี่คือเรื่องราวในวันหนึ่งของแก๊ง 4 เพื่อนเกย์วัยชรา (ถึงกับชะงัก เมื่อมีการบอกอายุตัวละครที่ลากเส้นไปตรง 70 – 80 กว่าปีกันเลย) ที่มารวมตัวกันเพื่อบอกลาหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งตัดสินใจจะโบกมือลาจากพวกเค้า บ้านที่เช่าอยู่ด้วยกัน และโลกใบนี้ไป แล้วบทสนทนาที่ว่าด้วยความเจ็บป่วย ความตาย มิตรภาพ ความรัก ความทรงจำ และความฝันก็ค่อยๆ ผุดพรายขึ้นมา ผสมปนเปไปกับเสียงบ่น ก่นด่า จิกกัด ตามประสาเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมานาน แน่นอน ไคล์แม็กซ์ของเรื่องยิ่งทำให้ส่วนผสมต่างๆ ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น พร้อมกับเปิดตัวอีกหนึ่งตัวละครที่นั่งเงียบอยู่ในมุมมืดมาตลอดครึ่งค่อนเรื่อง

ก็ต้องยอมรับด้วยแหละว่าเราอ่อนไหวกับเรื่องมิตรภาพของเพื่อนเกย์เป็นพิเศษอยู่แล้ว แพ้ทางให้กับหนัง/ซีรีส์หมวดนี้อยู่เสมอ แล้วพอ “เมื่อไหร่ เมื่อนั้น” (A Distanced Lullaby) เล่าถึงกลุ่มเพื่อนเกย์วัยชรา และเรื่องความเป็นความตาย มันก็ยิ่งแตะต้องส่วนที่อ่อนไหวของตัวเราเองมากขึ้นไปอีก จนต้องคอยเตือนสติตัวเองว่า อย่าร้องไห้นะ อย่าเพิ่งนั่งน้ำตาไหลตอนนี้ ไม่เห็นเหรอว่าตัวละครปล่อยมุกตลกขนาดนี้! แล้วก็แปลกดีที่ตัวละครเกือบทั้งหมดแทบไม่ได้พูดจาโต้ตอบด้วยถ้อยคำดีๆ ใส่กันเลย แต่เราสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ ความรัก ความห่วงใยที่พวกเค้ามีให้กัน ตรงกันข้ามกับตอนได้ดู The Boys In The Band หรือแม้กระทั่ง “ฉันผู้ชายนะยะ” ที่ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนเกย์มารวมตัวกันเหมือนกัน อันนั้นยากจะสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อกันจริงๆ

พอนักแสดงถูกจำกัดให้มีพื้นที่ของการแสดงไม่มากนัก และต้องใช้เสียงสื่อสารเป็นหลัก เพราะนี่คือการแสดง “อ่านบทละคร” เสียงของนักแสดงจึงสำคัญมาก และพวกเค้าก็ทำได้ไม่มีที่ติเลย (จนทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่การอ่านบท แต่มันคือการแสดงจริงๆ) “พี่ตั้ว - ประดิษฐ ประสาททอง” เป็นตัวละครเกย์ชราผู้เป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม แก่หง่อมนอนติดเตียง แต่ยังส่งเสียงเจื้อยแจ้วด่าทอได้อย่างน่าทุบ การดีไซน์เสียงของพี่ตั้วในแต่ละซีนดีมากๆ แล้วใครจะเกลียดตัวละครนี้ได้ลงกันเล่า, “พี่ฟ้า - สายฟ้า ตันธนา” เกย์น้องเล็กของกลุ่มที่ยังฝังใจกับรักเก่าสมัยเรียนมหา’ลัย และต้องคอยรับหน้าที่ดูแลพี่ๆ อยู่เสมอ ชอบการเลือกช่องเสียงพี่ฟ้าในเรื่องนี้มาก มันไม่ได้เรียบๆ เรื่อยๆ อย่างง่ายๆ เลยนะ, “ครูอ๊อด - ณัฏฐนันธ์ เอื้อศิลป์” เปิดโหมดเกย์ร้ายๆ แรงๆ ที่มีอาวุธคือวาจาไว้ทิ่มแทงใครต่อใครได้ดีงามมาก แล้วพาร์ตลุกขึ้นลิปซิงค์ก็ดีมาก เหมือนจะเบา แต่ก็เฮี้ยนดี!, “ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช” มาในบทเกย์ชราผู้ตกตะกอนความคิดและทางเลือกของตัวเองไว้แล้ว และพร้อมที่จะจากไป เป็นตัวละครที่บาลานซ์น้ำหนักระหว่างตัวละครของพี่ตั้วและครูอ๊อดได้ดีทีเดียว และ “พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ” มาน้อยๆ แต่มานะ! ชอบความยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ทีเล่นทีจริงของตัวละครมาก ไม่มากไม่น้อย พอดีๆ เลย และต้องชื่นชมไปถึง “นัสรี ละบายดีมัญ” ผู้รับหน้าที่อ่านบทบรรยายด้วย ที่กำหนดจังหวะของเรื่องราวได้ออกมาดีแบบนี้

ชอบลูกเล่นการเปิด-ปิดโคมไฟด้วย มันดูง่าย แต่พอถึงช่วงที่แบ่งตัวละครออกเป็นสองฝั่ง (คนเป็น - คนตาย) การเปิด-ปิดไฟมันก็เชื่อมโยงกับเรื่องที่เล่า ไปจนถึงสื่อถึงความเป็นความตายได้ด้วย ... ณ วันนี้วัยนี้ที่เราครุ่นคิดถึงความตายของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง พอได้ดูละครเรื่องนี้ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า เฮ้ย ถ้าเราอายุยืนยาวถึง 70 – 80 ขึ้นมาจริงๆ เราจะมองความตายเปลี่ยนไปไหมนะ แล้วตัวละครไหนกันแน่ที่จะคิดเห็นตรงกันกับเรา

อยากให้ละครเล่นแบบมีโปรดักชั่นเต็มๆ มาก #รอนะ และเชื่อว่าช่วงท้ายมันยังสามารถขมวดให้คมคาย และขยี้สิ่งที่แต่ละตัวละครเผชิญหรือต้องการพูดได้มากกว่านี้อีก (หรืออันที่จริง การปล่อยให้มันคลุมเครือแบบนี้ต่อไป มันก็ดีเหมือนกันนะ เพราะมันยังติดค้างอยู่ในเราอยู่ไม่หายไปไหนเลย)

เมื่อไหร่ เมื่อนั้น (A Distanced Lullaby) เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพ 2022 และยังทำการแสดงอีก 2 รอบ ในวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายนนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/slidingelbow