• @TOM NEWS
  • Jan 2018

10 อันดับหนัง LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กช่วล และทรานส์) ประจำปี 2017

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
เพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง จัดอันดับ 10 อันดับหนัง LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กช่วล และทรานส์) ประจำปี 2017 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานภาพยนตร์ไทยติดอันมากถึง 3 เรื่อง ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น มาดูกัน!



Call Me by Your Name (2017)

จริงอยู่ว่าพล็อตของ Call Me by Your Name นั้นออกจะง่ายและเสี่ยงต่อการกลายเป็นหนังเกย์ง่อยๆ มาก แต่พอมันอยู่ในมือผู้กำกับเก๋ๆ เปี่ยมรสนิยมอย่าง Luca Guadagnino มันก็กลายเป็นหนังท่วมท้นอารมณ์และโคตรฉลาดไปเสียอย่างนั้น กับเรื่องราวฤดูร้อนหนึ่งในอิตาลีของ Elio เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้ตกหลุมรักและได้สานสัมพันธ์กับ Oliver นักวิชาการหนุ่มหล่อ ซึ่งเดินทางมาจากอเมริกาเพื่อมาเป็นผู้ช่วยของพ่อของ Elio . ยอมรับตามตรงว่า ช่วงเวลาครึ่งแรกของหนัง เราเผลอไผลไปจดจ่ออยู่กับการสปาร์คกันของตัวละคร ซึ่งกว่าจะมาถึงก็เนิ่นนานจนน่าหงุดหงิด แต่กลายเป็นว่า พอหนังจบลง เรากลับชอบช่วงเวลาที่ “อ่านยาก” ในตอนต้นนี้มาก ในความเงียบงัน เฉยชา ห่างเหิน น่าอึดอัด หากมองให้ดี มันกลับเต็มไปด้วยแรงปรารถนาอันยากจะต้านทาน และต่างฝ่ายต่างต้องทรมานกับความลุ่มหลงในกันและกันมากแค่ไหน

Call Me by Your Name ทำให้เราย้อนกลับไปสัมผัสความรู้สึกอันพลุ่งพล่านของตัวเองในวัยเยาว์อีกครั้ง ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า เราไม่อาจจะกลับไปรักใครได้เหมือน “รักแรก” ได้อีกแล้ว ความรู้สึกดีอันแผ่ซ่านไปทุกอณูเมื่อได้รับรักตอบนั้นดีแค่ไหน แล้วมันกลับยิ่งเจ็บเมื่อความสัมพันธ์นั้นต้องจบลง และเมื่อความเจ็บปวดมันสอนให้เราแข็งแกร่งขึ้น เราก็ไม่มีทางกลับไปเป็นคนเดิมที่รักใครได้เต็มหัวใจอีก เหมือนมันจะเป็นความทรงจำที่เลวร้าย แต่สิ่งที่พ่อของ Elio พูดก็กระชากเรากลับมามองความทรงจำนั้นในอีกรูปแบบนึง ... ความรักมันช่างเจ็บปวดและงดงาม แต่เราโชคดีแค่ไหนที่เคยได้สัมผัสครอบครองมัน

เช่นเดียวกับการ “ค้นพบ” และ “ตระหนักรู้” ในตนเองของชาว LGBT ทั้งหลาย การค้นพบและยอมรับในตัวเองของ Elio นั้นช่างละม้ายคล้ายกับเรื่องของเราหรือคนใกล้ตัวเหลือเกิน แต่นี่ไม่ใช่ตัวละครในซีรี่ส์วายชวนจิ้นที่แสนซ้ำซาก ความเป็นมนุษย์ของ Elio นั้นช่างมีมิติ ซับซ้อน และน่ามหัศจรรย์ . Timothée Chalamet นักแสดงหนุ่มวัย 22 มารับบทเป็น Elio ที่ไม่สื่อสารความคิดภายในใจใดๆ ออกมาเป็นคำพูดได้อย่างลึกซึ้ง ความสุข ความเศร้า ความอัดอั้น และน้ำตาที่ไหลออกมานั้น เราเข้าใจ... เข้าใจโดยที่เค้าไม่ต้องเปล่งเสียงว่าเจ็บแค่ไหน Armie Hammer กับบท Oliver ก็ได้ฉายเสน่ห์ออกมาในทุกการเคลื่อนไหว มากไปกว่านั้นเค้าทำให้เราได้เห็นด้านอันอ่อนไหวของ Oliver ด้วย และนั่นแหละที่ทำให้เราเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนทั้งคู่มันคือความรัก ความชื่นชม หาใช่ความลุ่มหลง หรือแค่ความใคร่

งานภาพของ สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยก็ดีงามสมคำร่ำลือ เช่นเดียวกับเพลงประกอบของ Call Me by Your Name ที่ Luca Guadagnino ผู้กำกับเป็นคนเลือกเองทุกแทร็ก ซึ่งกลายเป็นอัลบั้มโปรดที่เราเปิดฟังวนๆ เวลาเขียนงานตลอดหลายวันที่ผ่านมา

ว่ากันว่านี่คือหนังปิดไตรภาคแรงปรารถนาของ Luca Guadagnino อันประกอบไปด้วย I Am Love (2009) and A Bigger Splash (2015) และ Call Me by Your Name (2017) ยิ่งทำให้เราอยากไปตามล่าดู I Am Love ที่ยังขาดอยู่ ... น่าสนใจไปว่านั้น Luca Guadagnino ให้สัมภาษณ์ในเทศกาลหนัง BFI London Film Festival ว่าเค้ามีแผนจะทำภาคต่อของ Call Me by Your Name ในปี 2020 เอ๊า โปรดติดตามกันต่อไป!



Moonlight (2016)

ได้ยินเสียงร่ำลือถึงความงดงาม ความหว่อง (หว่องกาไว - ผู้กำกับหนังฮ่องกงชื่อดัง) และความดีงามของทีมนักแสดงจากหลายคนที่ได้ชมมาก่อน พอเข้าไปนั่งอยู่ในโรงหนังมันก็เลยเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะตั้งการ์ดหยั่งเชิงไว้มั่น แต่ก็นั่นแหละ การ์ดสูงแค่ไหน ถ้าประเด็นมันจะทะลุทะลวงหัวใจได้ขนาดนี้ ก็ต้องยอมลดการ์ดแล้วโอบกอดตัวเองไว้แทน

Moonlight แบ่งเรื่องราวเป็นสามส่วนกับสามช่วงชีวิตของเด็กผู้ชายผิวสีที่ชื่อว่า Chiron ตั้งแต่วัยเด็กที่ถูกใครๆ ตั้งฉายาว่า Little เพราะตัวเล็กบอบบาง ขี้อาย และถูกรังแกอยู่เสมอ โชคดีที่เค้าได้ทำความรู้จักกับ Juan ผู้เปรียบเสมือนพ่อที่โอบอุ้มความรู้สึกอันเปราะบางของเค้าไว้ และมอบแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับเค้าโดยไม่รู้ตัว, เติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่การรังแกในรั้วโรงเรียนดูจะหนักข้อยิ่งกว่าเดิม และความสับสนว้าวุ่นก็ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งความรู้สึกภายในที่มีต่อเพื่อนชาย และความรู้สึกเคว้งคว้างที่แม่ คนในครอบครัวเพียงคนเดียว ... ไม่รักเค้า, และพาร์ตสุดท้าย เมื่อ Chiron เติบใหญ่กลายเป็น Black ชายหนุ่มผิวสีร่างกำยำ ผู้แข็งกร้าว แต่ภายในกลับอ่อนไหว พังทลายง่ายดาย เมื่อได้กลับมาเจอรักแรกและรักเดียวของเค้าอีกครั้ง

ชอบลีลาการกำกับของ Barry Jenkins มาก ทั้งที่หนังมีความเคร่งเครียดดราม่ามาก แต่มันก็มีเสน่ห์มาก เช่นเดียวกับทีท่าดัดจริตในทุกองค์ประกอบนั้นน่าหมั่นไส้มาก แต่มันก็โคตรสื่อสาร ความหว่องกาไวฉายชัดในทุกอณู แสงสี การจัดวางกล้อง ทีท่าของตัวละคร เพลงประกอบ และบรรยากาศ แต่มันก็หลอมรวมกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Barry Jenkins ด้วยเช่นกัน

ทีมนักแสดงคือดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ Chiron ในทุกช่วงวัย ทำให้เราเชื่อในตัวตนของตัวละครได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ทั้งๆ ที่หนังไม่ได้ให้เวลาสร้างพัฒนาการตัวละครเท่าไหร่เลย แต่แค่ฉากนิ่งๆ ที่ปล่อยให้นักแสดงได้สื่อสารในความเงียบ กลับมีผลลัพธ์แสนวิเศษ Mahershala Ali โผล่มาน้อย แต่จริงอย่างหลายคนว่า พลังของตัวละครยังอยู่กับตัว Chiron ตลอดทั้งเรื่อง และ Naomie Harris สุดยอดมาก นี่คือผลงานการแสดงที่เธอมีเวลาเข้าฉากแค่ 3 วัน แต่ต้องเล่นให้เห็นพัฒนาการของตัวละครกว่า 15 ปี! โอ๊ย ยอม!

ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่พบว่า ผู้ชายผู้หญิงหลายคนที่ไม่ได้เป็นเกย์ก็ “เข้าใจ” และ “รู้สึก” ไปกับตัวละครได้เหมือนกัน บางทีอาจเป็นเพราะพวกเราทุกคนต่างก็เคยสัมผัสรสชาติของความเจ็บปวดในวัยเยาว์ ความแตกร้าวภายในครอบครัว รักแรกที่ยังคงแจ่มชัด แม้ว่ามันจะสร้างบาดแผลไว้รุนแรงแค่ไหน และตัวตนของเราในวันนี้ บางทีมันก็ช่างแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยเป็น หรือคิดฝันว่าจะเป็นเสียเหลือเกิน



Professor Marston and the Wonder Women (2017)

แค่นั่งดูเทรลเลอร์ตัวอย่างซ้ำ ก่อนจะลงมือเขียนงานชิ้นนี้ เราก็นั่งขนลุกน้ำตารื้นอีกครั้ง นี่เป็นหนังที่ต้องติดอันดับยอดเยี่ยมประจำปีของเราแน่นอน มันทั้งน่าทึ่ง ทรงพลัง เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์ เปิดกว้างทางความคิด จริงใจกับตัวละคร และตั้งคำถามกับศีลธรรมจริยธรรมมนุษย์ได้อย่างน่าชื่นชม

สร้างจากชีวิตจริงอันสุดอื้อฉาวของ William Moulton Marston ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา/นักประดิษฐ์เครื่องจับเท็จ ผู้สร้างคาแร็คเตอร์ฮีโร่หญิงผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Wonder Women ขึ้นมาในปี 1941 ด้วยความสนใจใคร่รู้ในพฤติกรรมของมนุษย์ และแรงผลักดันของผู้หญิงสองคนในชีวิต คนหนึ่งคือ Elizabeth Marston ภรรยาหัวก้าวหน้า ผู้เก่งกาจไม่แพ้เขา อีกคนหนึ่งคือ Olive Byrne เด็กนักศึกษาผู้อ่อนโยนที่กลายมาเป็นหนึ่งในครอบครัวของเขา ใช่! เขาคบผู้หญิงสองคนพร้อมกัน ... ดูเหมือนพล็อตพื้นๆ ดาษดื่น ทว่าเรื่องราวในชีวิตของพวกเค้ามันล้ำยุคไปกว่านั้นมาก เพราะนอกจาก Elizabeth และ Olive จะยินดีอยู่ร่วมกันแบบเราสามคนแล้ว เธอทั้งสองยังรักกัน! . มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากนะ ที่เราจะเจอหนังที่บอกเล่าความรักความสัมพันธ์อันไร้ขอบเขต ฉีกกรอบศีลธรรมจรรยา แถมยังวิเคราะห์ลงลึกถึงก้นบึ้งของหัวใจแบบนี้ ชอบการงัดข้อกันระหว่างการใช้หัวใจและอารมณ์นำทาง กับกรอบสังคมมาก (ที่แม้แต่ถ้าเรื่องราวมันเกิดขึ้นในยุคนี้ พวกเค้าก็คงยังต้องถูกประนามไม่ต่างกัน) ไม่เท่านั้น ตัวละครทั้งสามก็มีช่วงเวลาอันสับสนในตัวเอง แม้พวกเค้าจะเป็นนักจิตวิทยาผู้เข้าใจความคิดมนุษย์ดีก็ตามดีเถอะ ชอบการถลำลงด้านมืดของเหล่าตัวละคร และการนำเสนอภาพเหล่านี้โดยไม่ตัดสิน โดยเฉพาะเรื่องเพศและแรงปรารถนา ... ฉาก S&M และฉากเลิฟซีนทั้งหลายในเรื่อง ดูเร่าร้อน รุนแรง เต็มไปด้วยอารมณ์ น่าตื่นเต้น และดีงามกว่า Fifty Shades of Grey หลายเท่าตัว ... อันที่จริงก็ไม่น่าเอาเรื่องนี้มาเปรียบเทียบหรอกนะ

แน่นอนว่า Professor Marston and the Wonder Women อาจจะทำร้ายทำลายจินตนาการและความฝันถึงฮีโร่พลังหญิงอย่าง Wonder Women ของเด็กตัวน้อยหรือคนช่างฝันทั้งหลายลง (แต่ถ้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Wonder Women จริงๆ ก็ต้องรู้สิว่า เบื้องหลังตัวละครนี้มันเคยถูกโจมตีเรื่องเพศ และ S&M มากแค่ไหน) แต่หากใจของคุณเปิดกว้างพอ คุณจะยิ่งหลงรัก Wonder Women มากขึ้นไปอีก นี่คือตัวละครที่โคตรจะเฟเมนิสต์แบบล้ำยุคเลยนะ ยิ่งพอเราได้เห็นความเชื่อมโยงและรายละเอียดที่มาที่ไปของพลังวิเศษ อาวุธ และศัตรูของเธอ เราก็ยิ่งฟิน!

ปลื้มปริ่มกับตัวละครหลักและนักแสดงทั้ง 3 มาก Rebecca Hall ในบท Elizabeth น่าเชื่อถือมาก ในความเข้มแข็ง มีความซับซ้อนอ่อนไหว, Bella Heathcote ในบท Olive มีเสน่ห์เย้ายวน ทั้งน่าหลงใหล เปราะบาง และมีความแข็งแกร่งในตัวเอง และ Luke Evans ก็มีเสน่ห์ท่วมท้นในบท William มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่เราจะสัมผัสความเคารพเชิดชูผู้หญิงจากคาแร็คเตอร์ผู้ชายซึ่งร่วมรักกับพวกเธอแบบนี้ในหนังเรื่องอื่น เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งสามตัวละครมีความเป็นมนุษย์ มีความรัก ความใคร่ และความเจ็บช้ำในแบบที่เราอยากโอบกอดพวกเค้าไว้ด้วยความรักความศรัทธาเหลือเกิน ่



Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2010/2017)

โชคดีที่นี่คือเป็นการดู Insects in the Backyard รอบที่สองแล้ว และพอจะรู้มาบ้างว่า การยอมเซ็นเซอร์ตัวเองในเวอร์ชั่นนี้นั้นอยู่ที่ตรงไหน เราจึงไม่ได้ไปจดจ่ออยู่กับการหาเหตุผลว่า “ทำไมหนังเรื่องนี้จึงถูกติดป้าย ห้ามฉาย” แต่เป็นการจมดิ่งไปกับเนื้อเรื่องและตัวละครตรงหน้ามากกว่าเดิม อาจจะมีหลุดโฟกัสอยู่บ้าง เพราะคอยจะมีแต่ความคิดผุดขึ้นมาว่า นี่มันคือหนังที่ทำขึ้นเมื่อ 7 - 8 ปีก่อนเลยนะ ทำไมมันยังดูสดใหม่ได้ขนาดนี้!?

Insects in the Backyard พาเราไปสอดส่อง 3 ชีวิตในครอบครัวที่กำลังจะแตกร้าวกระจัดกระจายด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เปิดใจ และไม่สื่อสารกัน ธัญญ่า พี่สาว (?) คนโต ผู้ตกอยู่ในห้วงความฝันและโลกในจินตนาการแทบจะตลอดเวลา เธอพยายามใช้ชีวิตราวกับเป็น Audrey Hepburn โดยไม่เคยสนใจว่าน้องๆ จะรู้สึกเช่นไร, เจนนี่ เด็กสาว ม.ปลาย ที่ออกไปใช้ชีวิตทำความรู้จักกับความรักและเซ็กส์ด้วยตัวเอง และจอนนี่ น้องชายคนสุดท้องที่ดูเหมือนกำลังหลงทาง ไม่ต่างจากพี่ๆ ... ใช่ ดูเหมือนปัญหาทั้งหมดจะมาจากตัวธัญญ่า กะเทยสาวผู้กลายเป็นตัวแปลกประหลาดในสายตาของน้องๆ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

กับ Insects in the Backyard เรามองเห็นตัวตนและบางสิ่งบางอย่างที่กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานของ พี่กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่อยู่ในงานชิ้นต่อๆ มา (แม้ว่ามันจะไม่หนักหนาฮาร์ดคอร์เท่าชิ้นนี้ก็ตาม) ทั้งการเล่าเรื่องไม่ปะติดปะต่อ/ไม่ลำดับเวลา บรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน ท่าทียั่วล้อกวนตีน ประเด็นเรื่องเพศอันไม่มีกรอบ การตบหน้าสังคม (และคนดู) ความเหงาเศร้าที่ถูกเจือด้วยเรื่องตลกเสียดสี รวมถึงการแฝงนัยเรื่องการบ้านการเมืองอยู่ในชิ้นงาน และที่กระทบโดนใจเรามากที่สุดก็คือ การพูดเรื่องเพศที่แม้ในวันนี้จะผ่านมาถึง 7 ปีแล้ว แต่ก็ดูเหมือนคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ หรือยังมองเห็นเป็นเรื่องตลก แม้กระทั่งคนในกลุ่ม LGBT ด้วยกันเอง ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจ ... มันก็น่าเศร้านะ

Insects in the Backyard อาจจะไม่ได้มีโปรดักชั่นเนี้ยบกริบ (แต่หลายฉากก็สวยตะลึง โดดเด้งเกินหนัง!) ไม่ได้มีทีมนักแสดงระดับเทพ (แต่ สุชาดา โรจน์มโนธรรม ในบทเจนนี่นั้นมีเสน่ห์น่าทึ่งมาก เช่นเดียวกับ แมค - สตีเว่น ฟูเรอร์ ที่เราเห็นเสน่ห์ของเขาจากบทเล็กๆ ในหนังเรื่องนี้เหมือนกัน แค่ฉากประกบคู่พี่กอล์ฟ ก็ได้ใจไปเต็มๆ แล้ว) และอาจจะไม่ได้เป็นหนังอินดี้ที่เสพแล้วเอาไปคุยโวอวดใครได้ แต่มันก็มีดีอยู่ในตัวเอง โดยเฉพาะความจริงใจและหาญกล้าของคนทำ ... มาเฉลิมฉลองชัยชนะของแมลงรักในสวนหลังบ้านตัวนี้ด้วยกันเถอะ การต่อสู้ของมันเพื่อได้อวดโฉมอย่างเป็นทางการได้สิ้นสุดลงแล้ว!



PlayBoy (and the gang of cherry) (2017)

คิดไว้อยู่แล้วว่าต้องมีคนเกลียดหนังมาก แม้กระทั่งตัวเราเองก็แอบทำใจไว้ด้วยเหมือนกันว่า “เราอาจจะเกลียดหนัง” แต่ก็กลายเป็นว่า เราโอเคกับ PlayBoy (and the gang of cherry) มากนะ และในขณะเดียวกันก็เข้าใจฝั่งที่เกลียดหนังด้วยว่าเพราะอะไร

หนังออกตัวไว้ก่อนแล้วว่า เป็นงานคารวะหนังตระกูล Pink Film หรือหนังโป๊ญี่ปุ่นในยุค 60 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง วิปริตผิดเพี้ยน แต่ก็มีมิติและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดย PlayBoy (and the gang of cherry) เลือกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในตึกร้างที่สว่างจ้าด้วยแสงแดด เมื่อ “เชอรี่” หญิงสาวไบโพลาร์ออกมาอาละวาดตามล่าหาของที่หายไปจาก “เจมส์” และ “เพลย์บอย” โดยที่ฝ่ายแรกอาจกำลังวางแผนทำอะไรบางอย่างอยู่ ส่วนฝ่ายหลังก็กำลังเพลิดเพลินกับเซ็กส์สไตล์ S&M กับหนุ่มผมทองอีกคน โดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า กลุ่มคนที่เหมือนไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะเหล่านี้ จะพาเรื่องราวไปจบลงที่ตรงไหน

หนังเต็มไปด้วยความอึดอัดและเคร่งเครียด ทั้งจากตัวละครที่ดู “จิต” กันทุกตัวคน บทสนทนาที่เต็มไปด้วยคำหยาบคายหรือการตะเบ็งตะโกน การแช่ภาพเนิ่นนาน ความรุนแรง หรือแม้แต่ฉากเซ็กส์ก็ยังทำให้เรากระวนกระวายใจ เพราะทุกตัวละครมันคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะคิดหรือจะทำอะไร กระนั้น เราก็ชอบการไปสุดทางของหนังมาก เหมือน “อุ้มพล กิติกัมรา” ผู้กำกับจะรู้ดีว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น นักแสดงทุกคนก็เชื่อมั่นในตัวผู้กำกับมาก มันไม่ใช่แค่การเปิดเปลือยหรือเล่นฉากเซ็กส์ แต่ในทุกๆ ฉาก เราสัมผัสได้เลยว่า นักแสดงเชื่อในสิ่งที่ทำและเชื่อใจผู้กำกับมากแค่ไหน จนมันทำให้หนังก้าวข้ามหนังเกย์ไทยที่ขายความโป๊เปลือยเรื่องอื่นๆ ไปได้แบบสบายๆ เลย

ชอบการแสดงของ “ไตเติ้ล คริษฐ์” มาก คือบทมันเอื้อให้ตัวละครนี้เปล่าประโยชน์นอกจากเป็น “ของเล่น” มากเลยนะ แต่การแสดงที่เต็มไปด้วยภาวะอารมณ์อันบอบช้ำสับสนภายใน โดยไม่มีบทพูด มันดีงามมาก เช่นเดียวกับการแสดงของ “แม็ค สตีเว่น” ที่บทเอื้อให้โชว์ศักยภาพของการเป็นนักแสดงและเปิดเผยด้านมืดภายในออกมาแบบหมดเปลือก แล้วแม็คก็ทำได้ดี ไม่มีตรงไหนให้ติเลย ส่วน “กัน อรรถพันธ์” รายนี้เราเชื่อมือการแสดงของเค้าอยู่แล้ว ชอบเวลากันต้องแสดงบทดาร์กๆ หม่นๆ แบบนี้ที่สุด และแน่นอน “สายน้ำ” กับบทเชอรี่ ต้องยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกและการดีไซน์ตัวละครของสายน้ำทำให้ตัวละครนี้โดดเด่น มีเสน่ห์ แม้ตัวละครมันจะมีความอัปลักษณ์ภายในมากแค่ไหนก็ตาม

แต่ก็นั่นแหละ ก็ต้องยอมรับว่า หนังมันไม่ได้เป็นมิตรกับคนดูเลย (และก็ไม่แคร์ด้วย) เช่นเดียวกับการเลือกไม่สั่งสอนศีลธรรมอะไรเลย มันก็ทำให้คนดูที่พยายามค้นหา “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” หาทางลงให้บทสรุปของหนังไม่เจอ และผิดหวังเมื่อไม่ได้คำตอบว่า หนังเรื่องนี้กำลังบอกอะไรกับเรา แต่เราว่า ถ้าหาดีๆ ก็เจออะไรบางอย่างอยู่นะ...

สำหรับเราเอง เราชอบมากที่หนังเล่นประเด็น “ผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำ” หรือ “ซาดิสม์/มาโซคิสม์” ได้น่าสนใจ ในขณะที่ตัวละครเพลย์บอยมีรสนิยมเป็นมาโซคิสม์ (ผู้ถูกกระทำ) (ชอบถูกทำร้ายร่างกายก่อนหรือระหว่างมีเซ็กส์) แต่เค้าก็เป็นฝ่าย “รุก” (ผู้กระทำ) และในฉากแรกๆ เราก็ได้เห็นเลยว่า เด็กหนุ่มผมทองที่เป็นฝ่าย “รับ” (ผู้ถูกกระทำ) ให้กับเพลย์บอย ก็มีท่าทีอึดอัดลำบากใจที่จะต้องเป็นมาสเตอร์หรือฝ่ายทำร้ายร่างกายเพลย์บอย และหลังจากนั้น เราก็ได้เห็นการเล่นสนุกของการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจระหว่างการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในตัวละครต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (ไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์ แต่รวมถึงเรื่องอำนาจในสถานะต่างๆ ของตัวละคร ไปจนถึงอำนาจของการมีปืนในมือ)

วนลูปกลับมาในช่วงท้ายของเรื่อง เมื่อฉากเซ็กส์ของเพลย์บอยปรากฏอีกครั้งกับตัวละครใหม่ เราก็ได้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว แม้เพลย์บอยยังคงเล่นเกมส์กับเซ็กส์ในตำแหน่งมาโซคิสม์เช่นเดิม แต่เค้าก็ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำอีกนั่นแหละ และตัวละครเด็กน้อยคนนั้นก็อาจจะได้เริ่มสัมผัสอำนาจของการเป็นผู้กระทำบ้างแล้วก็ได้ แม้ว่าเค้าจะไม่ได้ยินดีกับมันเลยก็ตาม...



Present Perfect - แค่นี้ก็ดีแล้ว (2017)

เอาเข้าจริงพล็อตของ “Present Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว” มันแทบไม่มีอะไรใหม่ แถมยังมีส่วนผสมของความน่าเหลือเชื่อและความซ้ำซากในระดับพอๆ กัน กับเรื่องราวของผู้ชายที่เมามายจนเผลอไผลไปมีอะไรกับผู้ชายด้วยกัน แต่ด้วยบรรยากาศแสนพิเศษของเมืองฮิกาชิคาวะ เสน่ห์ของนักแสดงที่เข้มข้น พร้อมเคมีที่เข้ากันอย่างลงตัว และการเลือกเล่าแบบเรียบๆ ง่ายๆ สไตล์มินิมัลลิสต์ ก็ทำให้มันกลายเป็นรสชาติแปลกใหม่ มีเสน่ห์ในตัวเอง และที่สำคัญที่สุด เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจกับเรื่องที่เล่าแบบเต็มหัวใจ

ในขณะที่ “ไอซ์ - อดิศร โทณะวณิก” ค่อยๆ ฉายเสน่ห์ออกมาทีละน้อยตามวินาทีที่ผ่านไปบนจอ “โจ๊ก - กฤษณะ มฤคสนธิ” กลับได้ใจเราไปตั้งแต่หน้าประตู แล้วน่าทึ่งมากที่เคมีของพวกเค้าก็ค่อยๆ หลอมละลายเข้าด้วยกันอย่างช้าๆ ด้วยเพราะตัวละครไม่ได้สนทนาอะไรกันเยอะแยะและมีความเงียบเป็นมวลอากาศใหญ่ในหนัง เราเลยได้เห็นการเล่นแบบลงรายละเอียดของทีมนักแสดง (รวมถึง มิโดริ ทามาเตะ ในบท ยูมิ ด้วย) ทั้งการเคลื่อนไหวร่างกาย สีหน้า แววตา น้ำเสียง ทุกอย่างมันพอเหมาะพอดีไปหมด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองฮิกาชิคาวะ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่โดดเด่นมาก นี่สะกิดแขนคุณแฟนที่นั่งอยู่ข้างๆ ตลอด “สวยจังเลย .. อยากไป”

ชอบพัฒนาการตัวละคร “เต้ย” มาก คือเอาเข้าจริง มันเสี่ยงมากที่จะเป็นตัวละครที่คนดูยี๊ ด้วยวุฒิภาวะ วิธีแก้ปัญหาของตัวละคร และความ “จะอะไรนักหนา” ของมัน แล้วยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่านจากความสับสนสู่การปล่อยไหลตามความรู้สึก ก็ทำให้เราเกือบๆ จะ “เอ๊ะ” เหมือนกัน แต่ด้วยอะไรบางอย่าง เราก็ยอมปล่อยไหลและเชื่อในการเติบโต-ตัดสินใจของตัวละคร ก็นั่นแหละ ต้องให้เครดิต “ไอซ์ - อดิศร” ที่สร้างตัวละครให้ดูจับต้องได้ มีเสน่ห์ และน่าเชื่อขึ้นมาได้

“Present Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว” ตอกย้ำความเชื่อของเราอีกครั้งว่า “ความรัก” มันทำให้เราเปลี่ยนแปลง เติบโต และเรียนรู้ได้ทุกครั้งแหละ และกับบางความรักบางความสัมพันธ์ แม้มันจะผ่านมาแล้วผ่านไปภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่มันก็ส่งผลรุนแรงและสั่นสะเทือนภายในทุกครั้งที่วงโคจรเราเวียนกลับมาสัมผัสกัน หรือแม้แต่...เห็นฟีดบนเฟซบุ๊กของเค้าเลื่อนขึ้นมา...



Handsome Devil (2016)

พล็อตเด็กหนุ่มผู้แปลกแยกที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคมใหม่ ในโรงเรียนใหม่ และค่อยๆ สานสัมพันธ์กับรูมเมทใหม่ที่ในตอนแรกดูเหมือนจะไม่มีอะไรเข้ากันได้เลย แต่แล้วก็มีเหตุให้เข้าใจผิด ก่อนจะมีโอกาสปรับความเข้าใจอีกครั้ง ... นี่มันสูตรสำเร็จหนังวัยรุ่นรอมคอมในรั้วโรงเรียนชัดๆ และยิ่งพอ Handsome Devil ใช้ตัวละครชายสองคน พร้อมสร้างพล็อตให้จุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ความเป็นเกย์ของตัวละครด้วยแล้ว มันก็ยิ่งชวนให้คิดถึงหนัง/ซีรี่ส์วายในเมืองไทยมากๆ

เหมือนจะเป็นเรื่องผิดบาปที่หนังเลือกทางนี้ แต่เปล่าเลย เราค่อนข้างพอใจด้วยซ้ำ ที่โลกมีหนังเกย์วัยรุ่นใสๆ แบบนี้เพิ่มขึ้นอีกเรื่อง และระหว่างที่ดูก็บันเทิงมาก เพลิดเพลินไปกับการเติบโตของตัวละคร ยิ้มร่ากับมุกน่ารักๆ เขินบิดตัวไปมากับฉากจิ้น และลงเอยด้วยการซุกหน้าบนไหล่คนข้างๆ ฟิน!

งานนี้คงต้องให้เครดิตสองนักแสดงนำของเรื่องจริงๆ Fionn O'Shea ในบท Ned มีความเนิร์ดและมีความขบถในตัวแบบน่าเชื่อถือ และ Nicholas Galitzine ในบท Conor เพื่อนใหม่นักรักบี้ ที่พอทำหน้านิ่งๆ ก็ดูกวนตีน แต่พอยิ้มทีก็น่ารักเชียว ส่วนสามนักแสดงรุ่นใหญ่ก็ทำหน้าที่ได้ดี Andrew Scott ในบทครูอังกฤษผู้ต้องปิดบังความเป็นเกย์ของตนเอง แอบชวนคิดถึงครู Keating แห่ง Dead Poets Society อยู่เบาๆ Moe Dunford ในบทโค้ชรักบี้ นี่ก็คิดถึง Jack Black และ Michael McElhatton ในบทครูใหญ่ ที่เราชอบความคลุมเครือ และการเล่นโดยไม่พูดอะไรออกมามากมายนี่มาก

ในขณะที่เราคิดว่าตัวเองโชคดีเหลือเกินที่ไม่เคยเผชิญหน้าการถูกกลั่นแกล้ง และล้อเลียนว่าๆ “อีตุ๊ดๆ” ในรั้วโรงเรียนหนักเท่าสองตัวละคร แต่มองพอย้อนกลับไป ก็ใช่ว่ามันจะเป็นเรื่องง่าย ที่สุดแล้ว การยอมรับในตัวตนของตัวเอง และการดิ้นรนสร้างพื้นที่ของเด็กเกย์แต่ละคนนั้นมันก็มีความเจ็บปวดไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอก ... จริงไหม?



Driver คนขับรถ (2017)

“เกด” หญิงสาวผู้มีรูปเป็นทรัพย์ ค่อยๆ ค้นพบความลับอันดำมืดของ “เต้” ผู้เป็นสามีทีละน้อย หลังจากที่เค้าหายตัวไป แล้วเธอวานให้ “แมค” คนขับรถคนสนิทของเต้ พาเธอไปแกะรอย แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดคิด ... เอาจริงๆ เราชอบที่หนังเฉลยความลับแรกของตัวละคร (ในสปา) ในจังหวะที่เร็วประมาณนึงแบบนี้นะ เพราะหากมันเก็บความลับนี้ไปเฉลยตอนท้ายมันจะดู “ไม่แพง” และเป็นมุกที่ดู “หลอก” คนดูแบบง่ายๆ ไปหน่อย กระนั้นในความเป็นหนังทริลเลอร์ซ่อนเงื่อนซ่อนปม เรายังคาดหวังจะเห็นอะไรหลายชั้นมากกว่านี้ เพราะพอหนังเฉลยความลับที่สอง (ในห้องเช่า) เราก็เดาเรื่องราวต่อจากนี้ได้เกือบหมดเลย ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ความคาดหวังว่าจะเห็นการหักมุมอะไรอีกแล้ว แต่คาดหวังจะเห็นพัฒนาการของตัวละคร และการสาดพลังจิตแตกใส่กันให้มากกว่านี้ต่างหาก ซึ่งถ้ามันมีการซัดหมัดดราม่าความรัก/ชีวิตคู่ เติมเต็มความจิตให้มากกว่านี้ หรือเคี่ยวเข็ญการแสดงให้เราเชื่อได้มากขึ้น มันคงพีคถึงขีดสุด

ได้ยินเสียงชื่นชมตอนเดินออกจากโรงว่า “Driver คนขับรถ” ดูมีความอินเตอร์มากในแง่ของการลำดับภาพ ตัดต่อ รวมถึงงานโปรดักชั่น ซึ่งเราก็ชอบมาก เพราะในแง่ของความเป็นหนังทุนต่ำ พอมันประณีตกับการตัดต่อและได้งานโปรดักชั่นดีๆ มันก็ดูแพงเลอค่ามาก เช่นเดียวกับเสียงชื่นชมถึงการแสดงของ “ปั้นจั่น ปรมะ อิ่มอโนทัย” และ “ภูริ หิรัญพฤกษ์” ที่เอาอยู่จริงๆ ไม่ว่าจะถอดผ้าหรือไม่ มันก็ทำให้เราละสายตาไปจากทั้งคู่ไม่ได้เลย (ฉากเปลืองเนื้อเปลืองตัวในเรื่องคุ้มค่านะ อันนี้ชอบ!) ส่วน “ศิตา ชุติภาวรกานต์” นั้นแม้จะมีเสน่ห์ดึงดูดเช่นกัน แต่พอบทมันต้องการอะไรที่มากมายท่วมท้น แล้วยังไปได้ไม่ถึง มันก็เลยออกมาขาดๆ เกินๆ (เหมือนตอนที่เธอเล่นละครเวทีเรื่อง “หยุดภพ” เด๊ะๆ)

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว #Driverคนขับรถ ก็ทำให้เราหยุดเล่นเกมความรัก (ได้ระยะนึง) เพราะได้ฉุกคิดอีกครั้งว่า มันไม่ใช่เกม และไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริง แต่คำถามที่เรายังตอบไม่ได้ และหนังก็ยังไม่ได้ให้คำตอบคือ เราจะอยู่กับความรักต่อไปได้อย่างไร ในวันที่เราได้รู้ความลับอันดำมืดของอีกฝ่ายแล้ว เราจะให้อภัย เดินหน้าต่อ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ไหม ...




Rough Night (2017)

หนึ่งในหนังที่เรามักจะแพ้ทางอยู่เสมอๆ ก็คือหนังแก๊งเพื่อนหญิงที่มาทำอะไรห่ามๆ บ้าบอ (อย่าง The Sweetest Thing ของสามสาว Cameron Diaz, Selma Blair และ Christina Applegate นี่รักที่สุด) และกับ Rough Night มันก็ทำให้เรารักมากเช่นกัน แก๊งเพื่อนสาวสมัยเรียนมหาลัยกลับมาเจอกันอีกครั้งในปาร์ตี้สละโสดของ Jess นักการเมืองสาวอนาคตไกล แต่แล้วทริปนี้กลับลงเอยด้วยหายนะ เมื่อพวกเธอพลั้งมือฆ่านักเต้นระบำเปลื้องผ้าหนุ่มล่ำตายไป และเธอเลือกวิธีช่วยกันกำจัดศพทิ้ง แต่คืนแห่งฝันร้ายนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ เพราะมันยังมีเรื่องเซอร์ไพรส์วายป่วงอีกมากมาย

ชอบที่มันไม่ได้พูดแค่เรื่องมิตรภาพของเพื่อนสาวเท่านั้น แต่มันพาเราไปย้อนดูความเป็นเพื่อนที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยน รวมทั้งตัวตนของเราเองด้วยที่เปลี่ยนไป เพราะหน้าที่การงาน หัวโขน หรือทางเดินที่ชีวิตที่เลือก และชอบมากที่มันมีการปะทะกันของเพื่อนรักเพื่อนซี้คนเก่ากับเพื่อนรักเพื่อนซี้คนใหม่ ซึ่งออกมาน่ารักน่าชังมาก ... ชอบยิ่งกว่าที่ Rough Night มีตัวละครเลสเบี้ยนที่เข้าท่า ไม่ได้เป็นแค่ตัวละครไม้ประดับ หรือใส่เข้ามาเพื่อสร้างมุกตลกเอาใจกลุ่มผู้ชมผู้ชาย

Scarlett Johansson ทำหน้าที่ของเธอได้ดีตามมาตรฐาน, Jillian Bell มาพร้อมคาแร็คเตอร์เพื่อนสาวตุ้ยนุ้ยเจ้ากี้เจ้าการที่โคตรแพทเทิร์น แต่ก็ไม่ได้น่ารำคาญจนเกินไปนัก, Zoë Kravitz และ Ilana Glazer มีเสน่ห์และไม่จมหายไป และ Kate McKinnon โคตรดี! การโผล่มาของเธอ ทำให้บรรยากาศในเรื่องมันน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นจริงๆ นะ

นั่งยิ้ม หัวเราะ ตีแขนคุณแฟนที่นั่งดูอยู่ข้างๆ อย่างชอบใจตลอดเรื่อง แต่กระนั้นเราก็ยังคิดว่า Rough Night มันยังไปได้ไกลกว่านี้อีก มุกตลกต่างๆ มันสามารถสัปดน บ้าบอได้อีก เช่นเดียวกับการโยนปัญหาหรือคลี่ปลายปมในระหว่างทางที่พึ่งพาความบังเอิญมากไปนิด เดาทางง่ายไปหน่อย แต่เราก็ไม่ควรคาดหวังเซอร์ไพรส์อะไรจากหนังแนวนี้อยู่แล้วนี่นา...



It's Only the End of the World (2016)

ผลงานของผู้กำกับ Xavier Dolan เกย์หนุ่มจากคิวเบก แคนาดา ซึ่งเป็นรัฐที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ (ทำให้หลายคนคิดว่า เค้าเป็นผู้กำกับจากฝรั่งเศส) ผู้เป็นลูกรักคนใหม่ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการได้กำกับ MV เพลง Hello ของ Adele แม้คราวนี้เค้าจะเลือกดัดแปลงบทละครเวทีมาเป็นภาพยนตร์ แต่มันก็ยังวนเวียนอยู่กับตัวละครเกย์ แม่ และครอบครัว

โดย It's Only the End of the World ก็เล่าการเดินทางกลับบ้านของ Louis ลูกชายเกย์ที่ออกจากบ้านและไม่กลับมาพบเจอครอบครัวอีกเลยเป็นเวลาถึง 12 ปี และดูเหมือนครอบครัวของเค้าก็เต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่ง และมีมวลพลังรอปะทุอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้พยายามร่าเริงและเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอ, พี่ชายคนโต ผู้เดือดพล่าน และไม่เคยพอใจอะไรสักอย่าง, พี่สะใภ้ที่ Louis ไม่เคยเจอหน้าก็ดูเหมือนมีอะไรในใจ และน้องสาวคนเล็กผู้แก่นกร้าว ทว่าเปราะบางเหลือเกิน

ก็ต้องบอกว่า It's Only the End of the World ไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะรัก และเมื่อตอนที่มันคว้ารางวัล Grand Prize of the Jury มาได้จากคานส์ปีล่าสุด มันก็ได้รับก้อนหินท่วมท้นจากนักวิจารณ์ โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบพาร์ตแฟลชแบ็กสั้นๆ นั้นทุกฉาก มันเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เงียบสงบ และช่างแตกต่างกับฉากปัจจุบันที่ตัวละครตะโกน เกรี้ยวกราด น่าหงุดหงิด และคาดเดาไม่ได้เลย Xavier Dolan ได้นักแสดงเกรดเอมาประชันกัน และมันก็ดีงาม Gaspard Ulliel มีเสน่ห์มาก และในความนิ่งเงียบ เรามองเห็นไอระอุอันท่วมท้นด้วยอารมณ์อยู่ในดวงตาชัดพอๆ กับเหงื่อที่ซึมบนต้นคอเค้านั่นแหละ, Nathalie Baye คนเป็นแม่ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ฉากในโรงเก็บของคือดีมาก, Vincent Cassel เดือดอะไรเบอร์นั้น, Marion Cotillard เล่นเป็นเมียที่อ่อนด้อยและไม่มั่นใจในตัวเองได้ละเอียดดีนะ, Léa Seydoux เสน่ห์ล้นเหลือเหมือนเดิม ชอบพลังของความเป็นเด็กสาวที่เธอขับเน้นออกมา มันดีมากจริงๆ

แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้ปลื้มกับงานชิ้นนี้ของ Xavier Dolan สักเท่าไหร่ ทว่าด้วยเหลี่ยมมุมอะไรบางอย่าง มันก็มากระทบกระแทกเราเข้าจนได้ แน่นอน การเป็นลูกชายเกย์ที่เลือกเดินจากครอบครัวไปใช้ชีวิตตามลำพังของเรานั้นคล้ายกับ Louis มาก และบรรยากาศครอบครัวที่มีความครื้นเครง เอะอะ และไม่เคยพูดจาดีๆ กันได้นานนั่นเล่า มันไม่ใช่ครอบครัวเราหรอกหรือ แล้วเส้นใยอันเลือนรางของสายสัมพันธ์ในครอบครัวนั่นอีกล่ะ มันทำให้เรามองเห็นตัวเอง ในความโดดเดี่ยว แปลกแยก และความพยายามถักทอสายใยนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เราก็ไม่แน่ใจนักว่า เราทำไปเพื่อคนในครอบครัว หรือเพื่อตัวเอง