• @TOM NEWS
  • Dec 2020

Ammonite เรื่องรักที่ซุกซ่อนอยู่ในชั้นดินชั้นหินยุคเก่าก่อน

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
Mary Anning เป็นนักบรรพชีวินวิทยาคนสำคัญที่ค้นพบฟอลซิลสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์มากมายหลายชิ้น ทว่าเธอเพิ่งถูกยกย่องในยุคหลังมานี้เอง เพราะในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ วงการนักวิชาการต่างๆ ในยุคนั้น ไม่ได้ให้ค่ากับสิ่งที่ผู้หญิงทำแม้แต่น้อย ถึงสิ่งที่เธอทำจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม เธอจึงเป็นเพียงผู้หญิงจืดชืดที่ใช้ชีวิตในเมืองริมทะเลของอังกฤษกับผู้เป็นแม่ และหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บเปลือกหอยมาขายนักท่องเที่ยวก็เท่านั้น แล้วในช่วงชีวิตที่เงียบเหงาโดดเดี่ยว เธอก็ได้มีโอกาสสานสัมพันธ์กับ Charlotte Murchison ภรรยาสาวของนักบรรพชีวินวิทยาอีกคน ซึ่งเดินทางมาฟื้นฟูจากอาการบอบช้ำทางจิตใจ จนก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์แสนพิเศษระหว่างกัน
 
พอหนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์และความรู้สึกพิเศษที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการได้ใช้เวลาร่วมกันของผู้หญิงสองคนในยุคเก่าก่อน (ณ Lyme Regis เมืองเล็กๆ ริมทะเล อังกฤษ ปี 1840) มันก็เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่เราจะคอยเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ในตระกูลนี้ ทั้งฝั่งเลสเบี้ยนเอง ที่มันถูกเราจับแมทช์กับ Portrait of a Lady on Fire (2019) (ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคน ฝ่ายหนึ่งเป็นคุณหนูจากตระกูลผู้ดี อีกฝ่ายเป็นศิลปินนักวาดรูป ที่ต้องมาใช้เวลาร่วมกันสั้นๆ บนพื้นที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ หรือถ้าจะเทียบกับงานชิ้นก่อน ก่อนที่ Francis Lee จะมากำกับ Ammonite ก็คือ God's Own Country (2017) มันก็มีอะไรคล้ายๆ กันอยู่ เพียงแต่ God's Own Country นั้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของผู้ชายสองคนแทน

Ammonite [Movie] | 百合 Goggles
 
ถึงอย่างนั้น Ammonite ก็มีอะไรที่แตกต่างและโดดเด่น คือในขณะที่หนังกลุ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคน มันจะมีมวลอารมณ์ที่ออกไปทางหนักแน่น โจ่งแจ้ง ชัดเจน และรุนแรง มวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นใน Ammonite มันค่อยเป็นค่อยไป และมีทีท่าที่ต้อง “อ่าน” กว่าความสัมพันธ์แบบผู้ชาย-ผู้ชายเยอะ แล้วมันก็ไม่ใช่รูปแบบของเกมความสัมพันธ์ด้วยนะ มันนุ่มนวล ลึกซึ้ง หวามไหว และบทจะเร่าร้อนก็ทำหน้าเราผ่าวแดงไปหมด ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกรอบสังคมในยุคนั้นด้วยแหละ ที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกและความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจนรวดเร็ว
 
ชอบมากขึ้นไปอีก ที่ Ammonite เล่าต่อเนื่องไปจนถึงจุดที่หนังเลือกจะจบลงตรงนั้น เพราะในหนังกลุ่มความสัมพันธ์แสนพิเศษที่เกิดขึ้นชั่วครู่แล้วต้องแยกจากกัน (ไม่ว่าจะเป็นหนังของกลุ่ม LGBT หรือไม่ก็ตาม) มักจะจบลงด้วยการทำให้ความทรงจำตรงนั้นงดงามเสมอ และมันเป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจพวกเค้าไปตลอดกาล แต่กับ Ammonite ยังเลือกเล่าต่อไปจนถึงจุดพลิกผันที่แท้จริงของความสัมพันธ์ ซึ่งไปแตะต้องประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องความเป็นคนรักเพศเดียวกันด้วย ตรงนี้นี่เองที่ทำให้เราหวนคิดถึงความเป็นนักบรรพชีวินวิทยาของตัวละคร เพราะที่สุดแล้ว Mary Anning จะยอมเป็นเพียงซากฟอสซิลที่แปะป้ายบอกชื่อแล้วถูกเก็บใส่ไว้ตู้จัดแสดงไหม   
 
ทีแรกก็คิดอยู่เหมือนกันว่า หนังจำเป็นต้องใช้นักแสดงเบอร์ใหญ่ขนาด Kate Winslet กับ Saoirse Ronan เลยเหรอ แต่พอได้ดูจริงๆ มันคู่ควรแล้วกับนักแสดงระดับนี้ เพราะตัวละครสื่อสารกันด้วยคำพูดน้อยมาก สิ่งที่กรุ่นและอัดแน่นอยู่ในใจของตัวละครมันจึงต้องการการแสดงระดับนี้แหละ แล้วทั้งคู่ก็เล่นแบบพอดีมาก ไม่ล้น ไม่เยอะ ดูจริง และเป็นมนุษย์ที่สุด

Ammonite เข้าฉายแล้ววันนี้ที่ House Samyan