• @TOM NEWS
  • Jan 2025

5 อันดับละครเวทีถูกจริต LGBTQ+ ในปี 2024

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

ตามธรรมเนียมของ @tom actz เมื่อถึงช่วงลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เราก็จะถือโอกาสชวนเพจ "ชีวิตผมก็เหมือนหนัง" มาจัดอันดับหมวดสื่อบันเทิงต่างๆ โดยขอเคลมว่า เป็นสื่อบันเทิงถูกจริตชาว LGBTQ+ สักเล็กน้อย และขอเริ่มที่หมวด "ละครเวที" กันก่อนเลย! (หมายเหตุ: ละครเวทีที่เลือกมานี้เป็นเพียงการแสดงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2024 และนับเฉพาะละครเวทีที่ผู้เขียนได้รับชมตลอดทั้งปีเท่านั้น)
 


Every Brilliant Thing: เพราะนี่คือสิ่งฮีลใจ (2024)

เปิดเรื่อง “Every Brilliant Thing: เพราะนี่คือสิ่งฮีลใจ” มาด้วยการที่ตัวละครค่อยๆ ไล่เรียงความทรงจำของตัวเองเกี่ยวกับแม่ของเค้า ซึ่งมีอาการซึมเศร้า และปรารถนาจะจบชีวิตของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง แล้วตัวเค้าเองในวัยเด็กก็เริ่มต้นเขียนสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข หรือในอีกแง่มันก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้ใครสักคนอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทีละข้อ และเมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละช่วงวัย ลิสต์รายการสิ่งฮีลใจนี้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีบทบาทต่อชีวิตของเค้า (และคนอื่นๆ) ในแง่มุมที่ต่างออกไป

แม้ตัวเรื่องจะฉาบไว้ด้วยมวลอารมณ์อบอุ่น และทีท่าสนุกสนาน แต่หลายช่วงมันก็ทำให้เราเจ็บจนจุก (แล้วที่ยากก็คือ การต้องพยายามควบคุมอารมณ์และน้ำตาของตัวเอง ไม่ให้ไหลออกมา เพราะไม่รู้จะต้องอ่านข้อความของตัวเอง หรือต้องลุกออกไปช่วยแสดงด้วยในตอนไหน แล้วไฟในโซนที่นั่งคนดูก็สว่างเจิดจ้าพอๆ กับพื้นที่แสดงอีกต่างหาก) พาร์ตการจบความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครว่าหนักหนาแล้ว พาร์ตที่ตัวละครปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ป่วยเป็นซึมเศร้าหนักหนายิ่งกว่า แล้วพอถึงพาร์ตที่ตัวละครต้องรับมือกับแม่ของเค้าในช่วงท้าย ก็ทำเราปริ่มๆ จะเขื่อนแตกซะให้ได้ ภาพเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง คนรู้จักหลายต่อหลายคนรอบตัวเราผุดพรายกันขึ้นมาตลอดเวลา บางคนทำสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จ โดยที่เราไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหรือแตะบ่าแตะไหล่ บางคนที่เราได้รับรู้ถึงความป่วยไข้ และโอบกอดเค้าไว้เสมอทุกครั้งที่ได้เจอกัน และบางคนก็มีเรานี่ล่ะ ที่จูงมือพาไปโรงพยาบาล ไปนั่งรออยู่หน้าห้องคุณหมอมาแล้ว


Hell hath no fury like a Queer scorned (2024)

Hell hath no fury like a Queer scorned เป็นผลงานการกำกับชิ้นล่าสุดของ “ปฏิพล (มิสโอ๊ต) อัศวมหาพงษ์” ที่เราพูดได้เต็มปากว่าติดตามผลงานมานาน แล้วพองานของมิสโอ๊ตมักจะหยิบเอาเรื่องราวในชีวิตของตัวเองมาบอกเล่าให้ผู้ชมได้รับรู้ ทั้งเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว เราก็พลอยรู้สึกสนิทสนมกับตัวมิสโอ๊ตไปด้วย ทั้งที่ในชีวิตจริงได้คุยกันน้อยมากๆ ก็ตาม ความพิเศษของงานชิ้นนี้ก็คือ การที่ตัวมิสโอ๊ตปรากฏตัวพร้อมกับ “หทัยชนก (ใบหม่อน) รุ่งเรืองเศรษฐ์” ศิลปินที่นิยามตนเองว่าเป็น Non-Binary Sapphic ในพื้นที่การแสดง แล้วปล่อยให้ผู้ชมทำความรู้จักและติดตามเรื่องราวของทั้งคู่ ทั้งในแง่ตัวตนการเป็น LGBTQ+ กับพื้นที่ในบ้าน และการเป็นศิลปินนักแสดง/คนทำงานละคร ที่ถูกพ่วงติดกับคำว่า LGBTQ+ ไปด้วย

ความสนุกของงานชิ้นนี้ก็คือ ตัวผู้ชมถูกปล่อยให้นั่ง ยืน เดินได้อย่างอิสระในพื้นที่ (จะเดินเข้าออกระหว่างการแสดงก็ได้เช่นกัน) แล้วศิลปินทั้งสองคนก็ใช้พื้นที่และวิธีการอันหลากหลายในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ทั้งพื้นที่บนโต๊ะทำงาน ด้วยการพิมพ์ข้อความแสดงความคิดอ่านในคอมพิวเตอร์ ขีดเขียนจดหมายบนกระดาษใบเล็กใบน้อย หยิบหนังสือสอนการแสดงมาอ่าน (หรือไม่อ่าน) พื้นที่มุมหนึ่งที่ทั้งคู่ลากเอาเก้าอี้มาวางนั่งสลับกันสัมภาษณ์/แคสติ้ง การจัดวางเรียงต่อเก้าอี้จนสูงเป็นประติมากรรมของใบหม่อน การที่ทั้งคู่ต่างเขียนข้อความผรุสวาทบนกระดาษแผ่นใหญ่แล้วนำไปติดทั่ว การแขวนผ้าที่เต็มไปด้วยตัวหนังสืออ่านสนุก (แน่นอน! หยาบได้ใจสุดๆ) แล้วในช่วงเวลาเกือบทั้งหมดนี้ คนดูอย่างเราๆ ยังได้รับคำแนะนำให้เปิดคลิปใน YouTube เพื่อฟังเสียงพูดคุยของมิสโอ๊ตและใบหม่อน (ที่ถูกบันทึกไว้แล้ว) เสริมเติมเรื่องที่พวกเค้าอยากจะเล่าเข้าไปอีก


ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล (2024)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” ได้เป็นละครเบิกโรงให้กับ “รัชดาลัย เธียเตอร์” และสำหรับเราผู้จดจำ “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เมื่อ 17 ปีก่อนได้ดี และบทเพลงต่างๆ จากมิวสิคัลก็วนเวียนกลับมาให้ฟังในเพลย์ลิสต์ระหว่างขับรถของคุณแฟนเสมอๆ การนั่งดูเวอร์ชั่นนี้โดยไม่เปรียบเทียบคงเป็นเรื่องยาก แต่กลับกลายเป็นว่า เราชอบความกระชับฉับไวของการเล่าเรื่องในเวอร์ชั่น 2024 นี้มาก รวมถึงการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหลายๆ อย่าง เพื่อเติมเหตุผลให้กับการตัดสินใจของตัวละครนั้นก็ดีงาม เช่นเดียวกับการเพิ่มเรื่องอุดมการณ์สิทธิสตรี และความเป็นคนนอกของตัวละคร “มิเชล” นั้นก็เข้าท่า ไปจนถึงบทสรุปที่ในที่สุด เมืองฮิลฟาราก็ปรับเปลี่ยนตัวเองในหลายๆ อย่าง และอนุญาตให้สตรีครองบัลลังก์ได้ ก็ร่วมสมัยดี


Chicago The Musical Thailand 2024 (2024)

ต้องบอกว่า BU Theatre Company หยิบจับเอา Chicago The Musical มาทำเป็นเวอร์ชั่นไทยได้ถึงเครื่องมากๆ ชอบการแปลเนื้อร้องภาษาไทยในเวอร์ชั่นนี้มาก (จริงอยู่ว่า บางเพลงเราอาจจะต้องพึ่งพาการอ่าน Surtitles เนื้อร้องภาษาไทยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วฟังชัดถ้อยชัดคำดี) แล้วที่ชอบที่สุดคือ พลังงานของทีมนักแสดงรุ่นใหม่มันล้นเหลือ ส่งมาถึงคนดูได้ทุกการเคลื่อนไหวจริงๆ เลิฟ!

แน่ล่ะ คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จัก Chicago ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ แต่ที่จริงแล้ว มันโด่งดังในฐานะละครมิวสิคัลระดับปรากฏการณ์มาก่อน กับเรื่องราวตลกร้ายแสบๆ คันๆ ของสองสาวฆาตกรชื่อดังแห่งชิคาโกในช่วงปี 1928 ที่แย่งชิงกันเป็นซุปตาร์บนหน้าหนังสือพิมพ์ ฝ่ายหนึ่งคือ Velma Kelly ฆาตกรสาวสุดโหดที่ถูกสื่อรุมสัมภาษณ์จนกลายคนเป็นคนดัง ทว่าเมื่อเกิดคดีฆาตกรรมรายใหม่ขึ้น แล้วผู้ต้องหาคือสาวสวยผมบลอนด์ท่าทางใสซื่ออย่าง Roxie Hart สื่อก็หันไปสนใจฆาตกรสาวคนใหม่แทน โดยมี Billy Flynn ทนายความหนุ่มเจ้าเสน่ห์ผู้ว่าความใครก็ไม่เคยแพ้ ชักใยตัวเธอและสื่ออยู่เบื้องหลัง แต่มนุษย์ในเมืองใหญ่หรือจะสนใจคดีเดิมๆ ได้ยาวนาน เมื่อมีคดีใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ดูท่าทางพวกเธอจะตกกระป๋องซะแล้ว และจะทำอย่างไรให้แสงสปอตไลท์หันกลับมาที่พวกเธออีกครั้งดีล่ะ!?

May be a graphic of 1 person and text
แผลใต้ผิว l Beneath the Skin (2024)

ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า มันจะเล่าถึงประสบการณ์ของการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัวของตัวอัดเอง แล้วพอความรุนแรงมันถูกเล่าผ่านพิธีกรรมเชิดชูความเป็นพ่อที่ดี หรืองานวันพ่อ มันก็ยิ่งโหดหนักมากขึ้นไปอีก คิดว่าความโหดที่ว่า มาจากช่วงที่คนดูทยอยเดินเข้าโรงละครแล้วอัดนั่งต้อนรับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม โบกมือทักคนรู้จัก ยกมือไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เดินเข้ามา ที่นั่งตามมุมต่างๆ แล้วเริ่มการแสดงด้วยบรรยากาศอบอุ่น แล้วใบหน้าเปื้อนยิ้มที่กล่าวยกย่องคุณงามความดีของพ่อบังเกิดเกล้า (ที่ดูแห้งแล้งเหลือเกิน) มันก็ยิ่งเจ็บปวด เพราะคนดูค่อยๆ รับรู้ว่า ภายใต้ใบหน้าและร่างกายที่ดูปกติสุข มันมีบาดแผลอยู่เต็มไปหมด