• @TOM NEWS
  • Jan 2021

9 อันดับหนังสือดีจริต LGBTQ ประจำปี 2020

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
เป็นธรรมเนียมอีกเช่นกันที่ เราจะชวนเพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง มาจัดอันดับ 9 หนังสือดีจริตโดนใจ LGBTQ ประจำปี 2020 ซึ่งก็ต้องอธิบายก่อนว่า หนังสือหลายๆ เล่มตีพิมพ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ผู้เขียนได้หยิบยกมานำเสนอเป็นหนังสือดีประทับใจตามที่ตนได้อ่านในปีที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น


ร่างของปรารถนา
อุทิศ เหมะมูล เขียน

นั่งซี๊ดปากเป็นระยะๆ ด้วยความร้อนของเนื้อหา ไม่ใช่แค่เรื่องเพศที่นำเสนออย่างโลดโผน แต่หมายรวมถึงประเด็นทางสังคม การเมือง และความคิดความอ่านที่แสบสันต์จนเราต้องร้องอู้วอาส์ออกมาเป็นระยะ ร่างของปรารถนา บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของศิลปินนักวาดภาพคนหนึ่ง ตั้งแต่วันที่เค้าเป็นเด็กหนุ่มไม่ปะสีประสา ทั้งเรื่องความรัก เรื่องทางเพศ ไปจนถึงเรื่องสังคม การเมือง และศิลปะ จนถึงวันที่เค้าได้เข้าเรียนด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยแห่งศิลปะ พร้อมกับได้รับชื่อใหม่อันแสนแปลกประหลาดว่า “เข้าสิง” แล้วค่อยๆ ได้เรียนรู้ชีวิตผ่านคืนวันที่ผันผ่านและผันผวนในประเทศไทย การสานสัมพันธ์ทั้งเรื่องทางเพศและความรักกับผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งประกอบร่างใหม่ให้กับเค้าทีละน้อย


คดีดาบลาวยาวแดง
ภาณุ ตรัยเวช เขียน

เรื่องเริ่มต้นขึ้นตอนที่ “พลิ้ว” หญิงสาวนักเรียนนอกได้เป็นพยานรู้เห็นในคดีฆาตกรรมลึกลับ “วาสิฏฐี” นางลีลาศล้มตัวสิ้นใจลงกลางฟลอร์ลีลาศ หลังจากเต้นเพลงสุดท้ายจบลง แล้วใครกันล่ะคือฆาตกร งานนี้เธอจึงต้องร่วมมือกับชายหนุ่มหลากหลายคนเพื่อไขคดี ฉากหลังของเรื่อง “คดีดาบลาวยาวแดง” นั้นคือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านไปไม่นาน และเกมการเมืองในเมืองไทยยังเต็มไปด้วยความผันผวน ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด (แค่มีประโยค “ศักดินาจงพินาศ” อยู่ในเล่ม เราก็ซี้ดปากแล้ว)


Orlando: A Biography ออร์แลนโด: ชีวประวัติ
Virginia Woolf เขียน / จุฑามาศ แอนเนียน แปล

แค่สองหน้าแรก เราก็เข้าใจแล้วว่า ทำไม Virginia Woolf จึงเป็นนักเขียนคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรม ภาษาอันเต็มไปด้วยพละกำลัง พลุ่งพล่าน ไหลเชี่ยวกราก นี่สินะ รูปแบบของวรรณกรรมกระแสสำนึกอันลือเลื่อง แล้วยิ่งอ่านไป...อ่านไปก็ยิ่งทึ่งกับคลื่นแห่งภาษาที่ไม่ได้มีทีท่าลดกำลังลงเลย มากไปกว่านั้น เรื่องราวของ “ออร์แลนโด: ชีวประวัติ” ยังทะเยอทะยาน เฉียบคม ลุ่มลึก ล้ำสมัย และสนุกมาก ถึงเราจะต้องอ่านๆ หยุดๆ ด้วยความเหนื่อยล้าของการตามจับทั้งภาษาและเรื่องราว ซึ่งบ้างก็คลืนคลานอย่างเชื่องช้า หมุนวนอยู่ภายในห้วงความคิดของตัวละคร บ้างก็หุนหันมุ่งหน้ากระโจนข้ามไปรวดเร็วจนเราต้องวนกลับไปอ่านย่อหน้านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก


ปีแสง
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เขียน

ดุจดาวเปิดเปลือยชีวิตของตัวเองอย่างซื่อตรง จริงใจ และยอมรับแต่โดยดีว่า มันเต็มไปด้วยความผิดพลาด การย้อนกลับไปมองตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก พยายามทำความเข้าใจผ่านสิ่งละอันพันละน้อย ที่ทำให้เธอกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว เพิกเฉยต่อความรู้สึกคนอื่น เห็นแก่ตัว และไม่สามารถจับสัญญาณความรักที่กำลังพังทลายลงได้ มันน่าชื่นชมมากนะ โดยเฉพาะเมื่อเธอพยายามใช้หลักจิตวิทยาในฐานะนักจิตบำบัด มาจับต้องสิ่งที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้เราได้มองกลับมาที่ตัวเองด้วยเช่นกัน


14 Years of Being Ghost Hunter คนล่าผี
หลี่อี้ฝาน เขียน / ศุณิษา เทพธารากุลการ แปล

ใครจะไปคิดว่า นวนิยายเล่าเรื่องลี้ลับผีๆ สางๆ ที่ถ่ายทอดจากชีวิตจริงของ “หลี่อี้ฝาน” นักล่าผีตัวจริงที่ทำงานในแวดวงนี้มากว่า 14 ปี จะกลายมาเป็นหนังสือที่มอบพลังในการใช้ชีวิต กระตุ้นเตือนให้เรามองโลกด้วยหลักความเป็นจริง และสั่งสอนศีลธรรมไปพร้อมกัน ชอบมากที่แต่ละบทจะเหมือนการไปไขคดีลึกลับของ “หลี่อี้ฝาน” ในเมืองน้อยใหญ่ทั่วประเทศจีน แม้ว่าจะไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา (บ้างเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยหลี่อี้ฝานยังเป็นมือฝึกหัด บ้างเกิดขึ้นในสมัยที่เค้ามีวิทยายุทธแก่กล้าแล้ว) แต่ก็ไม่สับสนงุนงง แถมยังทำให้เราคาดเดาอะไรไม่ค่อยได้อีกด้วย


เพราะเรา... คู่กัน
JittiRain เขียน

พบว่าทั้งเวอร์ชั่นซีรี่ส์และเวอร์ชั่นนิยายนั้นมีความดีงามแตกต่างกัน ในขณะที่แฟนนิยายหลายคนโจมตีว่า การสลับสับเปลี่ยนเรื่องราวในเวอร์ชั่นซีรี่ส์นั้นไม่เข้าท่า เรากลับชอบการดัดแปลงปรับวิธีการเล่าใหม่ในเวอร์ชั่นซีรี่ส์มาก เพราะมันทำให้เรื่องสนุกขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ทั้งฝั่งความสัมพันธ์ของคู่หลักอย่าง “สารวัตร” และ “ไทน์” ไปจนถึงคู่เพื่อนพี่น้องของตัวละครหลัก ส่วนความดีงามของเวอร์ชั่นนิยายก็คือ การได้ทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครผู้เงียบขรึมอย่างสารวัตรมากขึ้น เพราะนอกจากนิยายจะเล่าสลับไปมาระหว่างตัวละครสารวัตรและไทน์แล้ว การได้รู้ว่าสารวัตรผู้เก็บงำความรู้สึกคิดอะไรอยู่ในใจก็ทำให้เรื่องราวความสัมพันธ์ของคู่นี้น่ารักขึ้นอีกหลายเท่า


คนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์รางเลือน
อนุสรณ์ ติปยานนท์ เขียน

การบอกเล่าชีวิตผู้คนในประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง โดยเฉพาะ “บุปผา” หญิงสาวชาวกัมพูชาที่เผชิญชะตากรรมอันแสนผันผวนในช่วงปฏิวัติเขมรแดง ซึ่งเรื่องราวของเธอถูกบอกเล่าอยู่ในหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “บุปผา” ของนักข่าวชาวอเมริกัน ผู้พบเศษเสี้ยวชีวิตของบุปผาในบันทึกการให้ปากคำของเหยื่อ ณ คุกตวลแสลง และเรื่องราวของเหล่าผู้กุมชะตาชีวิตชาวยิวในช่วงเวลานาซีเรืองอำนาจ ในบท “จากไอค์มันน์ สู่เอาชวิตช์ สู่ไอค์มันน์ ความตายที่ไม่เปลี่ยนผ่าน” ที่ทำให้เรามองเห็นความคิดความเชื่อและสิ่งที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังของเหล่านาซีและคนทำงานให้นาซีว่าพวกเค้าคิดหรือเชื่อมั่นในอะไรอยู่ แล้วมันก็ช่างน่าสะพรึงกลัวเหลือเกินที่ความคิดของพวกเค้านั้นเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่...เลือดเย็น


Twelve Rooms 12 ห้อง
ปราโมทย์ แสงศร เขียน

เรื่องสั้น 12 เรื่องของ ปราโมทย์ แสงศร เกิดขึ้นในห้องพักจำนวน 12 ห้องของโรงแรมแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ (“ผมเห็นเพียงแสงจากยอดของภูเขาทอง ส่วนหน้าต่างทางด้านซ้ายเป็นวัดพระแก้ว แสงสว่างจากที่นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกลึกลงไปในความมืดมิด”) แล้วแต่ละเรื่องก็มีตัวละครถ่ายทอดเรื่องราวแตกต่างกันไป บ้างจมจ่อมกับความผิดหวังในความรัก บ้างครุ่นคิดถึงสิ่งที่เพิ่งทำลงไป บ้างกำลังคิดถึงอนาคตของตัวเองและครอบครัว และบ้างกำลังตัดสินใจจะจบชีวิตตัวเอง


รักแห่งสยาม LEGACY
แมวโพง เขียน

หนังสือรวมเล่มทั้งตัวนวนิยาย “รักแห่งสยาม” ของ “ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” อันเป็นต้นธารของภาพยนตร์ติดลิสต์ในดวงใจของใครอีกหลายคน พร้อมด้วยบทภาพยนตร์อีก 2 เวอร์ชั่น (เวอร์ชั่นปี 2004 ที่ไม่ได้สร้าง และเวอร์ชั่นปี 2006 ที่มีความใกล้เคียงกับฉบับภาพยนตร์ที่สร้างจริงมากที่สุด) แทรกด้วยภาพเบื้องหลังที่หาดูได้ยากยิ่ง และอรรถาธิบาย บอกเล่าเส้นทางของรักแห่งสยามในแต่ละเวอร์ชั่น ซึ่งทำให้เรามองเห็นรายละเอียดระหว่างทางของรักแห่งสยามชัดเจนมากขึ้น