- @TOM NEWS
- Sep 2023
มาตาลดา เมื่อปมปัญหาของครอบครัว LGBTQ+ ถูกแก้ได้ด้วยพลังบวก
By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
พอรู้ว่าเป็นละครที่นำเสนอภาพตัวละครที่เติบโตมากับคุณพ่อเกย์และผองเพื่อนชาว LGBTQ+ เราก็สนใจอยากตั้งใจดู “มาตาลดา” ทันที แล้วเราก็ค่อยๆ ถูกตัวละคร เรื่องราว และบรรยากาศแบบ Feel Good ตะล่อมพาให้เราหลงรักละเรื่องนี้ไปทีละน้อย จนถึงคราวที่ตัวละครต้องเจอเรื่องยากๆ ในชีวิต เราก็พลอยเอาใจลงไปช่วยโดยไม่รู้ตัว
มาตาลดา เป็นเด็กสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาโดย “พ่อเกรซ” หรือ “เกริกพล” ชายหนุ่มผู้ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากครอบครัว เมื่อเค้าบอกกับที่บ้านว่าตนเองนั้นเป็นเกย์ จนในที่สุด เค้าก็ตัดสินใจหอบเอาลูกสาวหนีมาอยู่กับเพื่อนๆ ที่พัทยา และกลายเป็นนางโชว์เจ้าของบาร์ชื่อดัง (ส่วนแม่แท้ๆ ของมาตาลดานั้นไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ และเข้าอกเข้าใจสนับสนุนเกริกพลเป็นอย่างดี) และเพราะรู้ว่ามาตาลดาจะต้องเจอเรื่องท้าทายมากมายในชีวิตจากการที่มีพ่อเป็นแบบนี้ เค้าจึงเลี้ยงลูกสาวตัวน้อยมาด้วยความพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับลูกเสมอ เราจึงได้เห็นตัวละครมาตาลดาเต็มไปด้วยพลังบวกแบบสุดๆ ยิ่งเมื่อเธอได้มารู้จักกับ ปุริม คุณหมอหนุ่มหน้าอมทุกข์ เพราะเติบโตมากับครอบครัวที่เคร่งครัดในทุกย่างก้าวของชีวิต แรงดึงดูดของความแตกต่างก็ค่อยๆ ทำให้หนุ่มสาวคู่นี้ได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า ความรักและความสุขไปด้วยกัน
เราไม่ได้มีปัญหากับคาแร็คเตอร์ที่ดูการ์ตูนเหลือเชื่อของมาตาลดาเลย เพราะ “เต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ” ทำให้เราเชื่อในตัวละครตั้งแต่แรกเห็นไปแล้ว เช่นเดียวกับคาแร็คเตอร์เคร่งขรึมของตัวละครปุริม “เจมส์จิ - จิรายุ ตั้งศรีสุข” ก็ทำได้ดีอย่างไม่มีที่ติ แล้วพอตัวละครคุณหมอปุริมค่อยๆ เปิดตัวเองออกมา มีรอยยิ้มระบายบนใบหน้า เราก็พลอยใจฟูตามไปด้วยจริงๆ แล้วการกระจายบทให้ตัวละครรายล้อมก็น่าสนใจมากๆ อย่างตัวละครที่อาจถูกมองว่าเป็นตัวร้ายเต็มพิกัด หากอยู่ในละครเรื่องอื่นๆ อย่าง “แพง” และ “ไตรฉัตร” ก็ถูกตบๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยในความเป็นละครพลังบวกได้อย่างงดงาม แล้วทุกปมของตัวละครก็ขมวดรวมมาที่ความสำคัญของครอบครัว เมื่อพ่อแม่สามารถเป็นได้ทั้งที่พึ่งพิงของลูกๆ และเป็นคนสร้างปมปัญหารุนแรงต่อชีวิตของลูกๆ ได้เหมือนกัน
หากจะมีอะไรที่เราต้องใช้เวลามากอยู่สักหน่อยในการทำใจยอมรับการคลี่คลายปมปัญหา ก็คงจะเป็นการกลับมาสานสัมพันธ์ระหว่างเกริกพลกับพ่อวัยชรา ที่เคยทำร้ายร่างกายและจิตใจของเค้าอย่างรุนแรง เพราะในชีวิตจริงของชาว LGBTQ+ การเดินออกจากครอบครัวที่ทำร้ายร่างกายลูกๆ เพียงเพราะลูกต้องการเป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แล้วมันก็ทำให้เราคิดถึงอะไรคล้ายๆ กันใน “คุณหมีปาฏิหาริย์” ด้วย เมื่อพ่อยุคเก่าก่อนต่างก็เลือกการบังคับขู่เข็ญลูก LGBTQ+ ด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน ส่วนแม่ก็กลายเป็นผู้หญิงที่ไม่มีปากไม่มีเสียง แล้วกลายเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงในครอบครัวไปโดยไม่รู้ตัว (ที่น่าสนใจคือ ในมาตาลดา ตัวละครกลับเฉไฉบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเป็นห่วงลูก กลัวว่าลูกจะไม่มีความสุขในชีวิต แต่เรากลับรู้สึกว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัวละครพ่อนั้นผิดหวังจากภาพที่วาดฝันเอาไว้ให้ลูกชายต่างหาก) แต่ก็นั่นแหละ นี่คือละครที่ทุกตัวละครที่เคยทำสิ่งผิดพลาดในชีวิตต่างก็ได้รับบทเรียน แล้วได้รับโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งเสมอ แล้วเราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครไม่เคยทำเรื่องผิดพลาด รวมถึงพ่อแม่ของเราเองด้วย พวกเค้าต่างก็เคยทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตมาแล้วมากมาย (ไม่ต่างจากเรา) และทุกคนก็ต้องการการให้อภัย เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ... และอีกครั้ง
บางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ควรมีละครพลังบวกแบบมาตาลดา เพราะมันเต็มไปด้วยความหวังในตัวเพื่อนมนุษย์ พร้อมกับคอยย้ำเตือนให้เราใจดีกับคนอื่นรอบๆ ตัว รวมถึงใจดีกับตัวเองด้วย
พอรู้ว่าเป็นละครที่นำเสนอภาพตัวละครที่เติบโตมากับคุณพ่อเกย์และผองเพื่อนชาว LGBTQ+ เราก็สนใจอยากตั้งใจดู “มาตาลดา” ทันที แล้วเราก็ค่อยๆ ถูกตัวละคร เรื่องราว และบรรยากาศแบบ Feel Good ตะล่อมพาให้เราหลงรักละเรื่องนี้ไปทีละน้อย จนถึงคราวที่ตัวละครต้องเจอเรื่องยากๆ ในชีวิต เราก็พลอยเอาใจลงไปช่วยโดยไม่รู้ตัว
มาตาลดา เป็นเด็กสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาโดย “พ่อเกรซ” หรือ “เกริกพล” ชายหนุ่มผู้ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากครอบครัว เมื่อเค้าบอกกับที่บ้านว่าตนเองนั้นเป็นเกย์ จนในที่สุด เค้าก็ตัดสินใจหอบเอาลูกสาวหนีมาอยู่กับเพื่อนๆ ที่พัทยา และกลายเป็นนางโชว์เจ้าของบาร์ชื่อดัง (ส่วนแม่แท้ๆ ของมาตาลดานั้นไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ และเข้าอกเข้าใจสนับสนุนเกริกพลเป็นอย่างดี) และเพราะรู้ว่ามาตาลดาจะต้องเจอเรื่องท้าทายมากมายในชีวิตจากการที่มีพ่อเป็นแบบนี้ เค้าจึงเลี้ยงลูกสาวตัวน้อยมาด้วยความพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับลูกเสมอ เราจึงได้เห็นตัวละครมาตาลดาเต็มไปด้วยพลังบวกแบบสุดๆ ยิ่งเมื่อเธอได้มารู้จักกับ ปุริม คุณหมอหนุ่มหน้าอมทุกข์ เพราะเติบโตมากับครอบครัวที่เคร่งครัดในทุกย่างก้าวของชีวิต แรงดึงดูดของความแตกต่างก็ค่อยๆ ทำให้หนุ่มสาวคู่นี้ได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า ความรักและความสุขไปด้วยกัน
เราไม่ได้มีปัญหากับคาแร็คเตอร์ที่ดูการ์ตูนเหลือเชื่อของมาตาลดาเลย เพราะ “เต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ” ทำให้เราเชื่อในตัวละครตั้งแต่แรกเห็นไปแล้ว เช่นเดียวกับคาแร็คเตอร์เคร่งขรึมของตัวละครปุริม “เจมส์จิ - จิรายุ ตั้งศรีสุข” ก็ทำได้ดีอย่างไม่มีที่ติ แล้วพอตัวละครคุณหมอปุริมค่อยๆ เปิดตัวเองออกมา มีรอยยิ้มระบายบนใบหน้า เราก็พลอยใจฟูตามไปด้วยจริงๆ แล้วการกระจายบทให้ตัวละครรายล้อมก็น่าสนใจมากๆ อย่างตัวละครที่อาจถูกมองว่าเป็นตัวร้ายเต็มพิกัด หากอยู่ในละครเรื่องอื่นๆ อย่าง “แพง” และ “ไตรฉัตร” ก็ถูกตบๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยในความเป็นละครพลังบวกได้อย่างงดงาม แล้วทุกปมของตัวละครก็ขมวดรวมมาที่ความสำคัญของครอบครัว เมื่อพ่อแม่สามารถเป็นได้ทั้งที่พึ่งพิงของลูกๆ และเป็นคนสร้างปมปัญหารุนแรงต่อชีวิตของลูกๆ ได้เหมือนกัน
หากจะมีอะไรที่เราต้องใช้เวลามากอยู่สักหน่อยในการทำใจยอมรับการคลี่คลายปมปัญหา ก็คงจะเป็นการกลับมาสานสัมพันธ์ระหว่างเกริกพลกับพ่อวัยชรา ที่เคยทำร้ายร่างกายและจิตใจของเค้าอย่างรุนแรง เพราะในชีวิตจริงของชาว LGBTQ+ การเดินออกจากครอบครัวที่ทำร้ายร่างกายลูกๆ เพียงเพราะลูกต้องการเป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แล้วมันก็ทำให้เราคิดถึงอะไรคล้ายๆ กันใน “คุณหมีปาฏิหาริย์” ด้วย เมื่อพ่อยุคเก่าก่อนต่างก็เลือกการบังคับขู่เข็ญลูก LGBTQ+ ด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน ส่วนแม่ก็กลายเป็นผู้หญิงที่ไม่มีปากไม่มีเสียง แล้วกลายเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงในครอบครัวไปโดยไม่รู้ตัว (ที่น่าสนใจคือ ในมาตาลดา ตัวละครกลับเฉไฉบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเป็นห่วงลูก กลัวว่าลูกจะไม่มีความสุขในชีวิต แต่เรากลับรู้สึกว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัวละครพ่อนั้นผิดหวังจากภาพที่วาดฝันเอาไว้ให้ลูกชายต่างหาก) แต่ก็นั่นแหละ นี่คือละครที่ทุกตัวละครที่เคยทำสิ่งผิดพลาดในชีวิตต่างก็ได้รับบทเรียน แล้วได้รับโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งเสมอ แล้วเราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครไม่เคยทำเรื่องผิดพลาด รวมถึงพ่อแม่ของเราเองด้วย พวกเค้าต่างก็เคยทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตมาแล้วมากมาย (ไม่ต่างจากเรา) และทุกคนก็ต้องการการให้อภัย เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ... และอีกครั้ง
บางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ควรมีละครพลังบวกแบบมาตาลดา เพราะมันเต็มไปด้วยความหวังในตัวเพื่อนมนุษย์ พร้อมกับคอยย้ำเตือนให้เราใจดีกับคนอื่นรอบๆ ตัว รวมถึงใจดีกับตัวเองด้วย