• @TOM NEWS
  • Oct 2017

อินโดนีเซียกำลังพิจารณาข้อกำหนดเพื่อแบนตัวละคร LGBT ออกจากโทรทัศน์

Source : telegraph.co.uk
By : isamupipe
ในประเทศอินโดนีเซีย การ์ตูนที่มีตัวละครเป็นหญิงรักหญิงอย่าง "เซเลอร์มูน" อาจจะถูกเซนเซอร์ไปด้วย เนื่องจากมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสั่งห้ามการแสดงออกแบบ LGBT ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่นี้แสดงให้เห็นการเหยียด LGBT ในอินโดนีเซียและอาจจะทำให้ชีวิตใครหลายคนยากลำบากขึ้น
 
 
 
ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้ สภาผู้แทนฯ อินโดนีเซียได้เสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างกฎหมายการควบคุมการแพร่ภาพกระจายเสียงฉบับใหม่ให้กับสภานิติบัญญัติของอินโดนีเซียพิจารณา โดยเนื้อหาดังกล่าวมีการสั่งแบนตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) รวมถึงผู้ชายที่แสดงออกในลักษณะ "เหมือนผู้หญิง" นั่นทำให้แม้แต่การ์ตูนเซเลอร์มูนที่มีตัวละครหญิงรักหญิงก็อาจจะฉายไม่ได้
 
เอวิตา เนอร์ซานตี หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการอ้างว่าพวกเขา "ไม่ได้เหยียดหรือกีดกันชาว LGBT" แต่ก็พูดว่า "ถ้าหากมีรายการใดที่แสดงพฤติกรรมแบบนี้ต่อหน้าสาธารณะจะถูกสั่งแบน" ข้อกำหนดเพิ่มเติมที่สมาชิกสภานิติบัญญัติเสนอ คือการสั่งให้เนื้อหารายการโทรทัศน์ที่มีเลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล, คนข้ามเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย



สุเปียดิน แอเรียส สุปาตรา จากพรรคนาสเด็มกล่าวว่าพวกเขาไม่ยอมให้มี "พฤติกรรมแบบ LGBT" ในโทรทัศน์ของพวกเขาโดยอ้างว่า "มันขัดกับวัฒนธรรมของพวกเรา" และอ้างว่า "มันจะทำลายศีลธรรมของคนรุ่นใหม่" อย่างไรก็ตามโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงคนรักเพศเดียวกันนั้นมีอยู่น้อยมากในอินโดนีเซียเอง แต่ก็พอมีอยู่บ้างที่มาจากสื่อภายนอก เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนเซเลอร์มูน ที่เคยฉายในอินโดนีเซียก็มีตัวละครที่สื่อไปในทำนองหญิงรักหญิง นั่นก็คือเซเลอร์เนปจูนและเซเลอร์ยูเรนัส 
 
หากกฎหมายใหม่ที่กำลังมีการพิจารณานี้ ถ้ามีการผ่านร่างและออกบังคับใช้จะทำให้ความรักแบบเซเลอร์เนปจูนและเซเลอร์ยูเรนัสกลายเป็นเพียงความทรงจำในวัยเด็กที่เลือนหาย อย่างไรก็ตามสมาชิกสภานิติบัญญัติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในช่วงการเสนอร่างกฎหมายเท่านั้น นอกจากนี้การเสนอร่างกฎหมายนี้ก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย

สุปรียาดี วิโดโด เอ็ดดโยโน ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ICJR) กล่าวว่าการสั่งแบน LGBT ในโทรทัศน์เป็นการเหยียดและกีดกัน รวมถึงเป็นกฎหมายที่อันตราย เอ็ดดโยโนบอกว่าการสั่งเซนเซอร์ความรุนแรงเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ตัวละคร LGBT เองไม่ได้เป็นอะไรที่รุนแรงในตัวพวกเขาเอง นโยบายเช่นนี้จึงมีรากฐานมาจากการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล
 
นอกจากนี้การสั่งเซนเซอร์ LGBT ในสื่อโทรทัศน์ยังเสี่ยงต่อการทำให้สังคมปฏิบัติไม่ดีต่อชาว LGBT เนื่องจากทุกวันนี้ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียก็เสี่ยงต่อการถูกประท้วงจากกลุ่มชาวมุสลิมสายสุดโต่ง กลุ่มศาลเตี้ยที่ไล่ล่าการจัด "ปาร์ตี้เกย์" ตามที่พักส่วนบุคคล และตำรวจก็มักจะประจานชาว LGBT ให้อับอายเวลามีการกวาดล้างต่อต้านกลุ่ม LGBT เอ็ดดโยโนบอกว่าถ้ามีการผ่านร่างกฎหมายเซนเซอร์ ก็จะยิ่งทำให้เกิดการเหมารวมตีตราชาว LGBT มากขึ้น