- @TOM NEWS
- Jan 2018
10 อันดับหนังสือจริตเกย์น่าอ่าน ประจำปี 2017
เพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง จัดอันดับ 10 หนังสือจริตเกย์น่าอ่านประจำปี 2017 ที่ผ่านมา และเราก็เชื่อว่า หนังสือเหล่านี้ ชาว LGBT ก็น่าจะรักและควรสรรหามาอ่านด้วยเช่นกัน
Paris Souvenir ด้วยรัก, จากปารีส
โอ๊ต มณเฑียร เขียน
เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากละเลียดอ่าน ไม่อยากให้จบ และพอจบเล่ม เราก็รู้ทันทีว่า “Paris Souvenir ด้วยรัก, จากปารีส” จะต้องติดอันดับหนังสือเล่มโปรดประจำปีของเราแน่นอน บันทึกการเดินทางและประสบการณ์การใช้ชีวิต (รัก) ในช่วงเวลาไม่กี่วัน ณ กรุงปารีส ของ “โอ๊ต มณเฑียร” ศิลปินนักวาดรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือด้านวรรณกรรมงดงามไม่แพ้กัน
มีไม่กี่ครั้งนักหรอกที่นักเขียนจะยอมเปิดเปลือยตัวตนความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ทั้งด้านมืดและด้านสว่างให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ได้สัมผัส แตะต้อง ชื่นชม ไปจนถึงมีส่วนร่วมด้วย “โอ๊ต มณเฑียร” เริ่มทริปด้วยภาพชวนฝัน เมืองแสนโรแมนติกกับการนัดพบคนรักหนุ่ม การเตรียมตัวเดินสำรวจเมืองก่อนคนรักจะมา จัดทริปเก๋ๆ เดินหาหลุมศพศิลปินคนดังในสุสานดัง ตามประสาคนช่างฝัน มื้ออาหารที่คนรักหนุ่มของเค้าจะได้พบกับครอบครัวของโอ๊ต (ซึ่งบินตามมา) อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จนกระทั่งบทสนทนาวัดใจวัดระดับความสัมพันธ์มาถึง โอ๊ตก็เลือกเปิดเผยความรู้สึกภายในให้คนอ่านอย่างเราๆ ได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา (ตรงกันข้ามกับคนรักหนุ่มที่เค้าไม่ยอมพูดความรู้สึกตรงๆ) จากทริปที่ควรจะโรแมนติกหวานชื่นก็กลายเป็นทริปหวานขื่นๆ แล้วเราก็ได้เห็นการเติบโตของเด็กหนุ่มผู้ไม่ประสีประสาความรักความสัมพันธ์ เติบโต เข้าใจ และได้ลิ้มรสด้านมืดในตัวเองและในตัวคนอื่นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
“Paris Souvenir ด้วยรัก, จากปารีส” มีส่วนผสมของการเป็น “บันทึกสารคดีท่องเที่ยว” ที่มีจริตจะก้านน่าสนใจ โดยเฉพาะการที่ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะอย่างลึกซึ้ง มีจริตในการมองข้าวของและเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่เก๋จริงอะไรจริง, “ไดอารี่” บันทึกเหตุการณ์ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว แต่ลามไปถึงเรื่องครอบครัว เพื่อนฝูง ความรัก และเซ็กส์, “งานวรรณกรรมเรื่องสั้น-นวนิยาย” ที่ตัวละครได้เติบโตในชั่วเวลาไม่กี่ร้อยหน้ากระดาษ และ “งานศิลปะ” เพราะแต่ละบทจะถูกคั่นด้วยภาพวาด – ภาพคอลลาจของโอ๊ต มณเฑียร ที่สวยมาก เท่มาก และมีส่วนช่วยขยายเรื่องเล่าระหว่างบรรทัดให้เพลิดเพลินขึ้นมาก เป็นอีกครั้งที่เราค้นพบนักเขียนที่เราจะเฝ้ารอคอยผลงานชิ้นต่อๆ ไปของเค้าอย่างใจจดใจจ่อ
Run Me To The Moon
โตมร ศุขปรีชา เขียน
บทบันทึกเส้นทางการก้าวเข้าสู่สนามวิ่งของนักเขียนหนุ่มใหญ่ ผู้เคยเป็นเด็กอุ้ยอ้ายอายพุง และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข็ดขยายการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่ง แต่แล้วด้วยแรงผลักดันจากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม และโชคชะตา มันก็ทำให้นักเขียนคนดังคนนี้ก้มลงผูกเชือกรองเท้าแล้วออกวิ่ง จากสนามซ้อม สู่สนามแข่งวิ่งจริงจัง แต่เอาเข้าจริง กว่าผู้อ่านอย่างเราๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์สนามแข่งวิ่งมินิมาราธอนกับเขา ก็ปาเข้าไปครึ่งค่อนเล่ม แล้วด้วยความเป็นคนบ้าทฤษฎี แน่นตำรา มันก็ทำให้เราพลอยได้ทำความรู้จักกับการวิ่งของมนุษยชาติ ตั้งแต่ในแง่ประวัติศาสตร์ สรีระวิทยา เทคโนโลยี ไปจนถึงในแง่จิตวิทยาและสังคมวิทยาพร้อมกับโตมรเลยทีเดียว
เรื่องน่าสนใจก็คือปกติเราก็พอจะสัมผัสได้อยู่บ้างว่า ในความเคร่งเครียดจริงจังในตัวหนังสือของ “โตมร ศุขปรีชา” นั้นมีด้านสนุกสนานอารมณ์ดีอยู่บ้าง เพียงแต่กับ Run Me To The Moon นั้น พลังงานบวก อารมณ์ขัน และมุกตลกมันระเรี่ยอยู่ในทุกบรรทัด จนบางทีก็ทำเรา เอ๊ะ เหมือนกันว่า นี่คือการรีดเค้นเสียงหัวเราะเพื่อให้หนังสืออ่านสนุกหรือเปล่า . กระนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่านี่คือหนังสืออ่านสนุก ทำเราหัวเราะท้องแข็งหรือไม่ แต่หลักใหญ่ใจความของ Run Me To The Moon คือการสร้างแรงบันดาลใจในการออกวิ่ง ควบคู่ไปกับการได้อ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทั้งก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่งต่างหาก และท้ายที่สุด อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์การวิ่งของเราเอง ... ขอบคุณ Run Me To The Moon ที่ผลักดันให้เราอยากออกวิ่งอีกครั้ง
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร
ทินกร หุตางกูร : เขียน
เราเริ่มเป็นแฟนงานเขียนของ “ทินกร หุตางกูร” ก็ตั้งแต่สมัยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ทำหนังสือรวมเรื่องสั้นสนามหญ้าออกมา เมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยมีงานของเค้ารวมอยู่กับนักเขียนหลายๆ คน และเราก็หลงรักตัวหนังสือของเค้าเรื่อยมา งานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เราคว้าหนังสือรวมเรื่องสั้น “ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร” มา ทั้งๆ ที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว พลิกดูด้านในมันระบุว่า พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2548 และนี่คือฉบับพิมพ์ครั้งที่สองในปี 2552 ... นั่นก็ตั้ง 8 ปีมาแล้ว ทว่าน่าแปลกที่หลากหลายเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังคงความร่วมสมัยอยู่
เรื่องสั้นทุกเรื่องเต็มไปด้วยตัวละครเด็กหนุ่มสาววัยมัธยมฯ ผู้ดูเหมือนจะแก่เกินวัย แต่ก็ช่างไร้เดียงสา จนพ่ายแพ้ต่อความรัก ความหลงใหล เซ็กส์ และสังคมอันโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็น “บุษบาบัน” เด็กสาวในรั้วโรงเรียนประจำหญิงล้วนผู้ตกหลุมรัก “ชูมาน” เด็กหนุ่มผอมบางตาเศร้า ทั้งคู่ลอบพบกันยามดึกทุกคืน พลางเฝ้าฝันถึงการสร้างทัชมาฮาลบนดาวอังคาร, “ทัศนา” เด็กหนุ่มผู้เงียบขรึมกลายมาเป็นผู้นำการประท้วงต่อสภาอาจารย์ในโรงเรียนที่ขูดรีดขูดเนื้อจากผู้ปกครองและข่มเหงนักเรียน ... แท้จริงแล้วมันมีจุดเริ่มต้นจากความรัก, “วายุ” เด็กหนุ่มนักไวโอลิน ผู้เจ็บปวดจากความรักที่เค้ามีต่อ “วาลุกา” ทั้งๆ ที่เด็กสาวทรงเสน่ห์คนนี้ก็รักเค้าเช่นกัน, “ปกเกล้า” เด็กหนุ่มผู้ตกหลุมรัก “วงเดือน” เด็กสาวผู้คล้ายๆ จะเป็นผู้หญิงของลุงแท้ๆ ของเค้า จนลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม ... และอีกนับสิบตัวละครที่พวกเค้าต้องเผชิญความเจ็บปวด...ในการก้าวข้ามพ้นวัย ... เจ็บปวดยิ่งกว่านั้น เมื่อพวกเค้าหลายคนไม่อาจข้ามผ่านมันไปได้
“ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร” ทำให้เราย้อนมองเห็นความไร้เดียงสาในช่วงวัยรุ่นของตัวเอง มันช่างสมจริงสมจังกับการที่หลายๆ ตัวละครไม่ได้ขาวสะอาด แต่กลับเปื้อนด้วยคราบหม่นหมองหรือเลอะเปรอะเปื้อนด้วยตัณหา ความหลงใหล และความเขลา ที่สำคัญการที่หลายๆ ตัวละคร “แก่แดด” หรือ “รู้มาก” ในเรื่องต่างๆ ทั้งศิลปะ ดนตรี สังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเค้ารอดพ้นจากความเจ็บปวดหรือเอาตัวรอดจากความรักได้เลย...
เรื่องชาวบ้าน
พิช วิชญ์วิสิฐ : เขียน
สเตตัสบนเฟซบุ๊กของพิช เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เรายินดีที่จะหยุดอ่านเสมอ ไม่ว่ามันจะสั้นยาวแค่ไหน เพราะตัวหนังสือของเค้ามีเสน่ห์เหลือเกิน พอๆ กับเสียงร้องนั่นแหละ (อ่อ และใช่ คลิปประหลาดโลกที่เค้าแชร์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวนั่นก็มีเสน่ห์ประหลาดล้ำพอๆ กัน) พอหยิบ “เรื่องชาวบ้าน” ของพิชมาอ่านก็หยุดอ่านไม่ได้ อ่านไป ยิ้มไป หัวเราะไป และบางบทก็ต้องหยุดพักเพื่อประมวลอารมณ์บางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด
หนังสือเล่มบางที่รวบรวมเรื่องราวของเพื่อนบ้าน ทั้งในคอนโดฯ และรอบๆ คอนโดฯ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีของพิช กลายมาเป็นบทบันทึกชีวิตคนเมืองใหญ่ที่บางจังหวะชวนให้คิดถึงบ้านและเพื่อนบ้านของเราเอง บางจังหวะก็ชวนให้ย้อนมองตัวเราเองว่าเป็นเพื่อนบ้านแบบไหน และอีกหลายจังหวะที่ชวนให้เราตั้งคำถามว่า แล้วตอนนี้เราใช้ชีวิตแบบไหน เพื่ออะไร และจะมุ่งหน้าไปทางไหน ที่สำคัญ นอกจากสำนวนภาษาสนุกสนาน จิกกัด เปิด ชง ตบมุก กลั้วเสียงหัวเราะแล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงาของคนเมืองด้วย และนั่นก็โคตรสั่นสะเทือนความรู้สึกของเราเลย
จริงอยู่ว่า “เรื่องชาวบ้าน” คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเราขนาดว่า จะเดินไปเคาะประตูข้างๆ ห้องแล้วแนะนำตัวเอง หรือเดินยิ้มแย้มชวนคุยกับคนรอบคอนโดฯ แต่มันก็ทำให้เราเริ่มนั่งเหม่อมองไปนอกระเบียง แอบมองห้องตรงข้ามซักผ้า ดูทีวี โทรศัพท์ไปคุยกับแม่ที่ต่างจังหวัด เดินเกาแกร่กๆ ในร่มผ้า ... เอ๊ะ นี่เรากลายเป็นมนุษย์ถ้ำมองไปแล้วหรือนี่!
สิบคดีบาป ภาคพิเศษ
Zhi Zhu : เขียน / วริยา ธัญญะวุฒิ : แปล
ไม่ต้องอ่าน “สิบคดีบาป” เล่มอื่นๆ มาก่อนก็อ่านเล่มนี้รู้เรื่อง เพราะ “สิบคดีบาป ภาคพิเศษ” เล่าเรื่องใหม่ที่จบบริบูรณ์ในตัวเอง และถือเป็นอภิมหาคดีที่ทั้งซับซ้อน ยิ่งใหญ่ และน่าสะพรึงกลัวที่สุด เมื่อเราจะได้เข้าไปสัมผัสโลกอันมืดมิดของเหล่าอาชญากร และเครือข่ายอาชญากรรมที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในประเทศจีน
ผลงานเล่มนี้เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า Zhi Zhu เป็นนักเขียนที่เก่งกาจมากแค่ไหน เมื่อเค้าเลือกเล่าเรื่องสไตล์ “หลายชีวิต” ของเหล่าอาชญกรหลายสิบชีวิต แล้วจับมันมาผนวกรวมกันได้ในท้ายที่สุด และไม่ใช่การจับตัวละครมาเจอกันแบบง่ายๆ ดาษๆ ด้วย แต่ทุกอย่างผ่านการคิดและวางหมากมาแล้ว ที่สำคัญ ถึงจะมีตัวละคร 30 – 40 ชีวิตในหนังสือเล่มเดียว แต่คนอ่านอย่างเราก็ไม่เคยสับสนอะไรตรงไหนเลย (นี่ขนาดอ่านๆ พักๆ วางๆ ทิ้งๆ อยู่หลายรอบนะ) ยิ่งไปกว่านั้น Zhi Zhu ยังถ่ายทอดโลกดำมืดและเบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละตัวละครอย่างละเอียดละออ บ้างน่าเศร้าสะเทือนใจ บ้างน่าหวาดหวั่นชวนขนลุก และหลายครั้งมันก็ลงเอยด้วยอาการจุกเจ็บอยู่ข้างใน
เสน่ห์ของงานเขียน Zhi Zhu ยังอยู่ที่การผสมผสานเหตุการณ์จริงคดีจริงลงในเรื่องแต่งอย่างกลมกลืน จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า บางทีนี่เรากำลังอ่านเบื้องหลังคดีดังในประเทศจีนอยู่ ทั้งคดีลักพาตัว เด็กหาย แก๊งขอทาน วิ่งราว ปล้นฆ่าชิงทรัพย์ คดีข่มขืนต่อเนื่อง แก๊งแชร์ลูกโซ่-ขายตรง วงการค้ายาเสพติด ฯลฯ แน่นอน มันกลายเป็นงานเขียนสะท้อนสังคมด้านมืดของจีนแผ่นดินใหญ่ และทำให้เรามองเห็นปัญหาเรื่องอาชญากรรมในจีนที่ฝังรากลึก มันไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องหรือความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น
มีหลายๆ ตัวละครที่อ่านจบแล้วก็ยังสลัดออกไปไม่ได้ ทั้งแม่ผู้หัวใจสลายเมื่อลูกชายถูกลักพาตัวไปจนลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมในชีวิต เด็กน้อยที่ถูกลักพาตัวมาอยู่ในแก๊งขอทาน แล้วได้เจอเพื่อนผู้กร้านโลก และตัวละครอาชญากรเกย์ที่สร้างครอบครัวเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา แม้มันจะเป็นครอบครัวโจรร้ายก็ตาม! หากจะมีอะไรติติงก็คงเป็นช่วงท้ายเล่ม ที่เหล่าสายสืบ (ซึ่งก็ต่างมีชีวิตดราม่าโชกโชนไม่แพ้แก๊งผู้ร้าย) รอดตายมาได้ราวปาฏิหาริย์ ถึงจะมีความพยายามอธิบายสถาการณ์และหลักการใดๆ ก็ตามทีเถอะ!
ปองวุฒิ เขียน
แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ฉบับ Tokyo Drift
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : เขียน
เป็นธรรมดาของการอ่านหนังสือท่องเที่ยว เราจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปกับนักเขียน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เราอยากจะร่วมทางกับคนนักเขียนคนนั้นเสมอไป แม้ว่าเค้าจะเขียนหนังสือได้สนุกมากแค่ไหนก็ตาม ... อย่าง “คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง” หรือ “เมอฤดี” เนี่ยอยู่ในกลุ่มนักเขียนที่เราอยากจะอ่านหนังสือของเค้าให้ครบทุกเล่ม แต่ถ้าให้เดินทางไปด้วยกัน คงต้องคิดอีกที เพราะทริปของเมอฤดีนั้น แม้จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีสถานที่ที่มีแต่คนรักหนัง รักเพลง รักศิลปะกรี๊ดแตก แต่มันก็มักจะเต็มไปด้วยความพังพินาศ และไม่ง่ายดายเสียแทบทุกครั้ง!
ทริปเที่ยวญี่ปุ่นของคันฉัตร มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่การไปดูคอนเสิร์ตวงร็อก Luna Sea ที่กลับมารวมตัวอีกครั้ง แล้วมันก็พ่วงมาด้วยการดูคอนเสิร์ตของศิลปินต่างๆ อีกหลากหลาย สลับกับการเดินหลงทางอยู่ในเมือง เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย และการไปยืนซึมซับสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องโปรดอีกหลายเรื่อง โดยไฮไลต์นั้นอยู่ที่ “ทุ่งอีเธอร์” ทุ่งหญ้าสีเขียวสดที่เป็นฉากจำใน All About Lily Chou-Chou หนังญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดกระแสฮิตเงียบๆ ในบ้านเราช่วงปี 2001
เราไม่รู้เหมือนกันว่า เวลาคนอื่นๆ อ่านหนังสือของคันฉัตร จะเก็ตและสนุกมากเท่าเราไหม แต่เรานี่เพลิดเพลินมาก ความอินดี้ เนิร์ด และความเป็น “ติ่ง” ของคันฉัตรมันทำให้ทริปญี่ปุ่นของเค้าแตกต่างจากคนอื่นๆ หนังที่ดู เพลงที่ฟัง งานที่เสพย์ ความตื่นเต้นที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความเยาว์วัย ถูกผสมผสานเข้ากับตลกร้าย-ปากจัดได้อย่างลงตัว เป็นผู้ชายที่เขียนหนังสือได้ถูกใจตุ๊ดมากจริงๆ รักค่ะ!
Bon En Khmer บอง ออง แขมร์
บองเต่า เขียน
เป็นแฟน “บองเต่า” ตั้งแต่ “บอง ออง ฟรองซ์” หนังสือเล่มที่แล้ว ด้วยจริตจะก้านในการใช้ชีวิต สำนวนภาษาจิกกัดสนุกสนาน และมุมมองที่ผู้ชายคนนี้มีต่อโลกนั้นถูกจริตตุ๊ดอย่างเรามาก พอมาถึง “บอง ออง แขมร์” ซึ่งถือเป็นเรื่องราว prequel เกริ่นนำก่อนที่พนักงานออฟฟิศธรรมดาๆ จะได้เดินทางไกลไปถึงฝรั่งเศส ... ประเทศแรกที่เขาได้เหยียบย่างไปใช้ชีวิตก็คือ “กัมพูชา” หรือ “แขมร์” ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำให้ต้องเดินทางไปประจำอยู่ที่กัมพูชานานถึงสองปี
เรื่องราวการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียงไทย แต่กลับมีหลายสิ่งหลายอย่างแตกต่างจากเราเหลือเกิน กลายเป็นความสนุกสนานทางด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหารการกิน และการค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ตามแบบฉบับประเทศโลกที่สาม อาจจะไม่ได้สนุกสนาน ฟูฟ่า หรือมีความรุ่มรวยเท่าเล่ม “บอง ออง ฟรองซ์” แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งความเพลิดเพลิน และอาจจะเพราะด้วยมันเป็นเรื่องราว prequel เราจึงพลอยรู้สึกตามไปด้วยว่า ความใสในตัวบองเต่ายังมีอยู่มาก นอกจากนี้สำนวนภาษาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีทีท่าจิกกัดเหมือนเล่มโน้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่า “บอง ออง ฟรองซ์” สนุกกว่า “บอง ออง แขมร์”
อย่างไรก็ตาม เรากลับพบว่า “บอง ออง แขมร์” มอบแง่คิดในการทำงาน การใช้ชีวิต และการมองโลกให้เราได้ดีมาก เหมือนเราเองก็ได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศครั้งแรกพร้อมกับบองเต่า ... ซึ่งพอถึงวันนี้ บางทีการมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของตัวเอง มันก็เป็นสิ่งดีงามในชีวิตเหมือนกัน
เร้นฟ้าจักรานิรันดร์
ณ พิชา เขียน
นิยายโรแมนติกแฟนตาซีข้ามภพข้ามชาติ บนฉากหลังของเมืองอันไกลโพ้นอย่างมองโกเลีย ทำให้เราคิดถึงนิยายแนวๆ นี้อีกหลายเล่ม กระนั้น “เร้นฟ้าจักรานิรันดร์” ก็มีเสน่ห์และความน่าสนใจในตัวเอง โดยเฉพาะการหยิบจับเอาความคิดความเชื่อและโลกพุทธศาสนาลัทธิมหายานของทิเบตมาใช้เป็นแกนหลักของเรื่อง และเอา “ชัมบาลา” ในตำนานมาถ่ายทอดแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ก็น่าสนใจดีเหลือเกิน
อัสฌา หญิงสาวชาวไทยได้มีโอกาสเดินทางไปยังกรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย เพื่อช่วยงานแม่บุญธรรม แต่แล้วในดินแดนอันอ้างว้างแห่งนี้ เธอก็ได้พบกับบุรุษลึกลับผู้หนึ่ง ซึ่งค่อยๆ ดึงดูดเธอเข้าใกล้และพาเธอไปสัมผัสโลกอีกใบที่เธอไม่เคยจินตนาการถึง เธอได้รับรู้ถึงอดีตชาติของตนเอง ความรัก ความเจ็บปวด และการดิ้นรนของประชาชนชาวมองโกเลียที่พยายามปกป้องพุทธศาสนา แต่กลับถูกอำนาจคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตรุกราน ทำลายวัดวาอารามและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจแทบหมดสิ้น และในครั้งนี้ ในชาติภพนี้ เธอต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะทำเช่นไร
ชอบการสอดแทรกประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด แต่ผสมผสานดราม่าโรแมนติกไว้นี่มาก เช่นเดียวกับการพาเราไปทำความเข้าใจกับพุทธศาสนามหายานแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ทำได้ดี ชอบมากที่ให้ตัวละครอย่างอัสฌาได้มีโอกาสยืนอยู่ในทั้งพุทธศาสนามหายานแบบทิเบิต และเถรวาทแบบไทย แม้จะมีบางจังหวะคล้ายการเทศนาสอนธรรมอยู่บ้างก็ตามที
Hatching Twitter เขาเรียกผมว่าคนทรยศ
นิค บิลตัน : เขียน / อัญชลี ชัยชนะวิจิตร : แปล
เป็นหนังสือที่ใช้เวลาอ่านนานมาก ไม่ใช่เพราะมันไม่สนุกนะ หลายบทหลายตอนนี่อ่านไปจิกแขนกัดเล็บตัวเองไปแบบลืมตัว ทั้งเข้มข้น ดุเดือด และโคตรลุ้น แต่พอมันมีความเคร่งเครียดกดดันผุดแทรกขึ้นระหว่างแต่ละบทเป็นระยะๆ เราก็ต้องพักเหนื่อย และคลายความตึงเครียดด้วยการไปทำอะไรอย่างอื่นหลายครั้งหลายหน จนอ่านไม่จบซะที
เรื่องราวหักเหลี่ยมเฉือนคมของกลุ่มเพื่อนที่ร่วมกันก่อตั้ง Twitter ซึ่งดุเดือดยิ่งกว่าตำนานการก่อตั้ง Facebook เพราะเพื่อนรัก 4 คน อันได้แก่ เอฟ, โนอาห์, บิซ และแจ็ค นั้นต่างก็มีด้านสีเทา และต่างก็ถือว่าตนเองคือผู้สร้างให้ Twitter กลายเป็นพื้นที่พิเศษ อันเป็นทั้งแหล่งข่าวฉับไว เครื่องมือทางการเมือง การตลาด แหล่งความรู้ ศูนย์รวมความไร้สาระ และเรื่องหมิ่นเหม่ศีลธรรม – ผิดกฎหมาย ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนี้ . จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เราเองก็ยากจะตัดสินว่า ใครกันแน่คือผู้ทำให้ Twitter ก่อเกิด สู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ทีมงานตั้งรับไม่ทัน ความพยายามตกแต่ง "หน้าบ้าน" ให้ดูสะสวย ไปพร้อมกับการซ่อม "หลังบ้าน" ที่โตรเละเทะ และอาจกลายเป็นหายนะได้ทุกเมื่อ อีโก้และความล้มเหลวในการบริหารจัดการองค์กรของผู้บริหารเพื่อนรักแต่ละคน สู่การขับไล่เพื่อนคนหนึ่งออกไป ก่อนที่ประวัติศาสร์จะซ้ำรอย มีการขับไล่เพื่อนตามไปอีกคน สู่ความแค้นจนเกิดการย้อนกลับมาทำร้ายเพื่อน ด้วยอำนาจของการใช้สื่อ และการเมืองแบบล็อบบี้ จนแก้แค้นได้สำเร็จ โอ้โห โคตรโหด!
“Hatching Twitter เขาเรียกผมว่าคนทรยศ” ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไม Twitter ในวันนี้ถึงได้มีแต่ความโป๊เปลือยในระดับฮาร์ดคอร์ ก็เพราะนโยบายดั้งเดิมของ Twitter ระบุไว้ว่านี่คือพื้นที่แห่งอิสรเสรี ในเมื่อ Twitter ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแทรกแซงปราบปรามกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่บน Twitter ดังนั้น ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในโลกนกสีฟ้านี้ก็จะไม่มีการแทรกแซงเช่นกัน พร้อมกันนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เรามองเห็นหลักการทำงาน บริหารจัดการคน การทำการตลาด และการดำเนินธุรกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์กับงานของเราได้เยอะมาก คนชอบถามเราว่า แอพพลิเคชั่นที่เราทำงานอยู่นั้น หาเงินมาจากที่ไหน หนังสือเล่มนี้นี่แหละคือคำตอบที่ชัดเจน การขายฝัน เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนนานาชาติ และรอคอยวันที่มันผลิดอกออกผลแบบถึงที่สุด เมื่อนั้นแหละ ช่วงเวลาของการตักตวงกลับคืนจึงจะมาถึง หรือบางที หากเมล็ดพันธุ์ที่หว่านเงินไว้ไม่ได้ผลผลิตที่ต้องการ มันก็แค่รื้อรากถอนโคนทิ้งไป แล้วมองหาพื้นที่ระดมเงินทุน หว่านเงินทุน และรอคอยการผลิดอกครั้งใหม่...แค่นั้นเอง