• @TOM NEWS
  • Jan 2021

The Boys in the Band ชีวิตรักของแก๊งเพื่อนเกย์ในยุค 60

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
ได้ยินชื่อเสียงของ The Boys in the Band มานาน ในฐานะละครเวทีชื่อดังจากปลายยุค 60 ซึ่งกลายมาเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 1970 แล้วถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ของไทย ในชื่อ “ฉันผู้ชายนะยะ” กำกับการแสดงโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ในปี 1987 (พ.ศ. 2530) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เราในวัยประถมต้องแอบดูในห้องนอน แล้วก็ตะลึงพรึงเพริดกับตัวละครกลุ่มเพื่อนเกย์เสน่ห์ล้นหลากหลายคาแร็คเตอร์ แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับการดู The Boys in the Band เวอร์ชั่นปี 2020 ในช่วงวัยเทียบเคียงได้กับตัวละครในเรื่อง สะสมประสบการณ์ชีวิต ความรัก มิตรภาพ แล้วลูบไล้รอยแผลเป็นไปจนถึงริ้วรอยต่างๆ ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ว่าแล้วก็อยากโอบกอดทุกตัวละครแน่นๆ มากๆ
 
The Boys in the Band ของผู้กำกับ Joe Mantello สร้างจากบทละครชื่อดังจากปี 1968 ของ Mart Crowley ซึ่งเพิ่งถูกนำมาปัดฝุ่นเล่นกันใหม่ในปี 2018 โดยทีมนักแสดงที่ทั้งหมดเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ แล้วได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยม จนได้มีการนำมาสร้างเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์และออกฉายทาง Netflix ในปี 2020 โดยยกทีมนักแสดงจากเวอร์ชั่นละครเวทีมาครบเซ็ต! (ชอบการสลับกลับไปกลับมาของเวอร์ชั่นละครเวที-ภาพยนตร์ของ The Boys in the Band ในทุกๆ เวอร์ชั่นมากๆ และสำหรับเวอร์ชั่นนี้ เราก็ชอบมากที่มันใช้ประโยชน์ของการเป็นหนังมาเล่าเรื่องที่อยู่นอกอพาร์ตเมนต์ อันเป็นข้อจำกัดของเวอร์ชั่นละครได้อย่างคุ้มค่า)
 
เรื่องวุ่นๆ ของแก๊งเพื่อนเกย์ที่มารวมตัวกันในอพาร์ตเมนต์ของ Michael เพื่อจัดงานวันเกิดให้กับ Harold ผู้มีภาพลักษณ์เป็นผู้นำของกลุ่มเพื่อน ทว่าในเวลาเดียวกันกับที่แก๊งเพื่อนสาวจะได้มาเจอหน้าแกะของขวัญกัน Michael ก็ต้องต้อนรับ Alan เพื่อนชายแท้ (?) ที่เขาแอบชอบมาตลอด ซึ่งโผล่มาโดยมิได้นัดหมาย แล้วด้วยความรัก ความแค้น เจือด้วยโทสะอีกนิดหน่อย Michael ก็แปรเปลี่ยนงานปาร์ตี้ให้กลายเป็นสงครามจิตวิทยา เมื่อพวกเค้าต้องเล่นเกมท้าให้ “โทรหาคนที่รักมากที่สุด แล้วบอกรักคนคนนั้น” แล้วนั่นก็ทำให้แต่ละตัวละครได้เปิดเผยบาดแผลของตัวเองออกมา บอกเลยว่า งานนี้ดราม่าเล่นใหญ่ และพลิกผันกันสนุกเลยล่ะ

Strike up the band! Mart Crowley's classic play/film, “Boys in the Band” is  remade for Netflix… – Musings of a Middle-Aged Geek
 
จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เราสงสัยมาตลอดว่า ทำไมแก๊งเพื่อนเกย์ส่วนใหญ่ (ทั้งในชีวิตจริง หนัง และซีรี่ส์หลายๆ เรื่อง) ถึงชอบทำร้ายทำลายกันด้วยคำพูดและการกระทำ ทั้งๆ ที่พวกเราต่างเข้าอกเข้าใจกันที่สุด แต่บ่อยครั้งที่พวกเราก็มักจะลงเอยด้วยการสร้างบาดแผลให้อีกฝ่าย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องคำพูดคำจาด่าทอ จิกกัด ประชดประชันหรอก แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นด้วย เช่นเดียวกับเหล่าตัวละครใน The Boys in the Band นี่แหละ ชอบความมีมิติของตัวละครทั้งหมดทั้งมวลมาก ทั้งความสัมพันธ์แบบจิกหัวของ Emory และ Bernard, ความสัมพันธ์อันหวั่นไหวของ Michael และ Donald หรือความสัมพันธ์แบบชิงไหวชิงพริบของ Michael และ Harold ในขณะที่ความสัมพันธ์รักของ Larry กับ Hank ก็ทำให้คิดถึงชีวิตรักของตัวเราเอง
 
แน่นอน พอตัวเรื่องมันเกิดขึ้นในยุค 60-70 มันก็สะท้อนถึงความยากลำบากของชีวิตเกย์ในยุคนั้นด้วย ทั้งกรอบสังคม สีผิว เชื้อชาติ ศาสนาความเชื่อ ที่กดทับพวกเค้าไว้ จนทำให้การเป็นตัวของตัวเองมันช่างยากเย็นเหลือเกิน แล้วการมีชีวิตรักที่ดีก็เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า การได้ดูเรื่องราวของผู้คนในยุคก่อนมันบันดาลใจเราเสมอ เส้นทางที่พวกเราถากถางทางเดินไว้ ต่อให้พวกเค้าไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อพวกเรา LGBT รุ่นหลัง แต่มันก็เป็นเส้นทางที่พวกเราได้เดินไปบนเส้นทางเดียวกัน แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ตาม
 
Jim Parsons สร้างตัวละคร Michael ได้น่าจดจำมาก ในความนอยด์ประสาทแดก ในความเป็นคนดี มันก็มีด้านร้ายๆ ที่น่าตบให้ลงไปกองกับพื้น แต่เราก็เกลียดไม่ลงอยู่ดี, Matt Bomer โอ้โห เสน่ห์หล่อเลี้ยงตัวละครนี้จริงๆ นะ คือจำได้แค่ว่า หล่อ หล่อมาก (ฮา), Andrew Rannells กับตัวละคร Larry มันคงเป็นตัวละครที่ล้ำมากนะในยุคนั้น การทะลายกรอบผัวเดียวเมียเดียวของชาวเกย์นี่ และที่สุดสำหรับเราก็คือ Zachary Quinto ในบท Harold พอเปิดตัวละครนี้ขึ้นมา มันทำให้บรรยากาศในเรื่องเปลี่ยนเลย แล้วก็ชอบมาดที่มางัดข้อกับตัวละคร Michael ของ Jim Parsons มาก ชนะ!

Jim Parsons makes serious play for Oscar in 'The Boys in the Band' -  GoldDerby
 
ในขวบวัยที่เยาว์วัยกว่านี้ เราคงได้สงสัยว่า ทำไมพวกเค้าถึงต้องใช้ชีวิตให้มันยากขนาดนี้ ทำไมไม่เปิดรับความสุข ดื่มด่ำกับชีวิตล่ะ แต่ในช่วงวัยใกล้ 40 แบบนี้ เราเข้าอกเข้าใจพวกเค้ามากทีเดียว มันไม่ใช่ว่าพวกเค้าไม่อยากมีความสุข แต่บาดแผลและชีวิตที่ถูกโบยตีมา มันทำให้ชีวิตเป็นเรื่องของการอยู่กับความเศร้า ความทุกข์ อดีตที่ผ่านเลยไป และพยายามเก็บเศษเสี้ยวของความสุขที่พบเจอในแต่ละวันไว้ให้ได้ต่างหาก ... ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนควรค่าแก่การมีความสุขในชีวิตนะ แต่บางที การมีความสุขก็ไม่ได้ง่ายเหมือนพิมพ์เป็นข้อความในบทความแบบนี้...