• @TOM NEWS
  • Jul 2017

“พินิจ งามพริ้ง” ข้ามไปสู่ “พอลลีน งามพริ้ง” ทำให้เรามองเห็นอะไรบ้าง

Photos : siamsport.co.th
By : Ruta
คิดว่าคอกีฬาหรือคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เป็นประจำ น่าจะเห็นข่าว พินิจ งามพริ้ง อดีตแกนนำกลุ่ม “เชียร์ไทยเพาเวอร์” ที่ได้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้หญิง ด้วยลุคใหม่ และชื่อใหม่อย่าง “พอลลีน งามพริ้ง” กันแล้ว ในข่าวฮือฮาในคอมเมนต์ตอบโต้ เรามองเห็นอะไรกันบ้าง มาไล่เรียงดูกัน
 
LGBT มีอยู่ในทุกวงการ
ส่วนหนึ่งที่ข่าวนี้กลายเป็นกระแสก็เพราะผู้ตกเป็นข่าวอยู่ในสายกีฬาแมนๆ อย่างฟุตบอล (พินิจเริ่มต้นเข้าสู่วงการลูกหนังด้วยสายงานสื่อมวลชน เป็นผู้ก่อตั้งชมรมเชียร์ไทย รวมไปถึงเว็บไซต์ cheerthai.com ในปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้น พินิจสร้างความฮือฮา เมื่อตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 ก่อนที่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 จะได้ยื่นใบสมัครเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย) และในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่า พินิจ ได้โพสต์ภาพในลุคใหม่ และเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กส่วนตัวใหม่เป็น Pauline Ngarmpring พร้อมกับได้ย้ายไปทำธุรกิจอาหารที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
 
ข่าวนี้ตอกย้ำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า LGBT นั้นมีอยู่ในทุกวงการจริงๆ และเราควรจะเลิกตื่นเต้นตกใจกันได้แล้ว เพราะกรณีแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนไปไม่กี่ปีก่อน บรูซ เจนเนอร์ (Bruce Jenner) อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกประเภทกรีฑาชายสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นสามีและพ่อของลูกๆ ก็ตัดสินใจข้ามเพศด้วยชื่อใหม่เป็น เคทลีน เจนเนอร์ (Caitlyn Jenner) และกลายเป็นสาวทรานส์ผู้มีอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งมาแล้ว
 
เหยียดเพศ คะนองคีย์บอร์ด ยังมีอยู่
ตามไปดูคอมเมนต์และการแชร์ข่าวเหล่านี้ในช่องทางต่างๆ กันได้เลย ในขณะที่เราพยายามปลอบใจตัวเองกันว่า เมืองไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก แต่เราก็ยังได้เห็นการเหยียดเพศ คะนองปากคะนองคีย์บอร์ดกันอยู่อย่างท่วมท้น จริงอยู่ว่า หลายๆ คอมเมนต์เรารู้ว่ามันเป็นการยั่วยุให้เกิดการโต้ตอบ แต่อีกหลายๆ คอมเมนต์มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้พิมพ์นั้นมีอาการโฮโมโฟเบีย (เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน) อยู่จริง ดังนั้น นี่อาจจะเป็นโอกาสอีกครั้งให้ชาว LGBT ออกมาเคลื่อนไหว ตอบโต้ และสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้างได้
 
การนำเสนอข่าว ควรหรือไม่
ในมุมหนึ่งมีการแสดงความคิดเห็นว่า การนำเสนอข่าวเรื่องนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือทำให้ พอลลีน งามพริ้ง ประสบภาวะอึดอัดที่ไม่จำเป็นหรือเปล่า อีกด้านหนึ่งก็โต้กลับว่า ในเมื่อพอลลีนโพสต์ข้อความ เปลี่ยนชื่อ และเปลี่ยนรูปบนเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะ นั่นก็หมายความว่าเธอยินดีที่จะเปิดเผยชีวิตส่วนตัวนี้แล้ว มิเช่นนั้น ก็คงสมัครเฟซบุ๊กใหม่ หรือใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ
 
การเปิดเผยตัวตน หรือที่เรียกกันว่า Come Out นั้น เป็นกระบวนการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับชาว LGBT เพราะมันหมายถึงการยอมรับนับถือในตนเอง และเช่นเดียวกัน เธอหรือเค้าเหล่านั้นก็ต้องการการยอมรับนับถือจากคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน