• @TOM NEWS
  • Jan 2024

ดอยบอย เฉดอันหลากหลายของความเควียร์ในตัวละครที่มาปะทะกัน

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
ดอยบอย (DOI BOY) ทำให้เราครุ่นคิดถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทางเลือกและการตัดสินใจในชีวิต ไปจนถึงการกระตุ้นเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า ในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้อง มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไร้อิสรภาพ และอีกจำนวนหนึ่งสูญหายไปจากความรับรู้ของผู้คน

“ศร” เป็นเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เติบโตมาจากการเป็นพระเป็นเณรในประเทศเมียนมาร์ ก่อนจะถูกบังคับให้สึกไปเป็นทหารกู้ชาติ (ที่เค้าบอกว่า มันก็ไม่ต่างอะไรจากตอนเป็นพระเท่าไหร่ ตื่นนอนพร้อมๆ กัน กินข้าวพร้อมๆ กัน ฝึกพร้อมๆ กัน) แล้วตัดสินใจหนีทหารเข้าสู่ฝั่งประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ ก่อนที่ชีวิตจะมาลงเอยด้วยการเป็นเด็กในร้านบาร์โฮสต์ที่ชื่อว่า DOI BOY ของเมืองเชียงใหม่ แม้ศรจะมีแฟนสาวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว แต่การทำงานรับแขกผู้ชายหรือเกย์ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอึดอัดใจอะไรเท่าไหร่ ส่วน “จิ” เป็นตำรวจสายสืบ ผู้เป็นลูกค้าขาประจำของศร แม้จมีเมียท้องแก่รออยู่ที่บ้าน แต่จิก็มักจะแวะมาใช้บริการศรก่อนกลับบ้านอยู่บ่อยๆ ทว่าชีวิตลับๆ ของจิไม่ได้มีเพียงแค่นี้ งานสำคัญของจิที่ไม่มีใครรู้ก็คือ การ “เก็บ” พวกป่วนเมืองให้ “หาย” ไป และเป้าหมายต่อไปของจิก็คือ “วุฒิ” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กำลังจะเปิดโปงระบบการค้ามนุษย์ซึ่งพัวพันกับพวกคนใหญ่คนโต วุฒิทำหน้าที่นี้ต่อจาก “ภูมิ” คนรักหนุ่มที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ... ชีวิตของคนสามคนบรรจบมาพบกันในคืนหนึ่งที่อาจจะทำให้ชีวิตของพวกเค้าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ชอบการเลือกให้ตัวละครทั้ง 3 มีเฉดของความเป็นเควียร์แตกต่างกันไป แล้วเรื่องเพศหรือรสนิยมทางเพศของตัวละครก็ไม่ได้ถูกหยิบมาขยี้อะไรด้วย พวกเค้าต่างรับรู้ถึงตัวตนของแต่ละฝ่าย และไม่ได้รู้สึกว่ามันสลักสำคัญอะไรเลย บทบาททางสังคมและสถานะทางสังคมต่างหากที่ทำให้พวกเค้ามองกันและกันด้วยสายตาที่แตกต่างกันไป

“อัด - อวัช รัตนปิณฑะ” กลายเป็นเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่มาดิ้นรนในเมืองไทยได้หมดจด ไม่ใช้แค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก ภาษา น้ำเสียง แต่แววตาของความรู้สึกข้างในของตัวละครมันสะท้อนออกมาหมดเลย, “เอม - ภูมิภัทร ถาวรศิริ” เล่นดีเหลือเกิน ชอบทุกฉากทุกซีนที่มีเค้าอยู่ แล้วก็ชอบมากๆ ด้วยที่ท่าทีอ่อนหวานแต่แข็งกร้าวเมื่อจำเป็นของตัวละคร มันทำให้เราคิดถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิบางคนที่เคยรู้จักในชีวิต, “เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ” ในบทนายตำรวจที่ถูกฝันร้ายตามหลอกหลอน ชอบภาวะเดือดอยู่ข้างในของตัวละครนี้มาก แล้วชอบซีนที่ตัวละครจิกล่อม (หรือกดดัน) ศรในสถานีตำรวจมากๆ การเลือกน้ำเสียง การใช้สายตา คือดีไปหมด น่ากลัว!

มีหลายช่วงหลายตอนที่เราสะดุ้งสะเทือนไปกับสิ่งที่ตัวละครพูด แต่ที่เจ็บจนจุกก็คือ “แต่มันไม่ควรต้องมีใครถูกทำให้หายไปจากโลก เพียงแค่เขาต้องการจะพูดความจริงหรือเปล่าวะ” การถูกอุ้มหาย การปิดปากด้วยคำขู่และความหวาดกลัว หรือแม้แต่การจับขังปิดกั้นอิสรภาพของผู้คิดเห็นต่าง ยังคงเกิดขึ้นอยู่ และแม้กระทั่งในตอนนี้ ยังมีนักโทษการเมืองที่ถูกขังอยู่ในคุกโดยไม่มีโอกาสได้ฉลองปีใหม่กับคนรักและครอบครัว แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ ก็ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากวิ่งวนไปกับระบบบูดๆ เบี้ยวๆ รู้สึกเหมือนเลือกทางเดินของชีวิตได้ ทั้งที่จริงเราอาจจะไม่ได้สามารถเลือกอะไรดั่งใจได้ในบ้านเราเมืองเราต่อไป ไม่ว่าจะปีนี้ หรือปีหน้า หรือปีใหม่ไหนก็ตาม...