• @TOM NEWS
  • May 2022

Everything Everywhere All at Once มัลติเวิร์สสุดเควียร์ ที่ชาว LGBTQ ต้องรัก

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
นี่สิความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเจอหนังอย่าง Everything Everywhere All at Once เพราะในความเอะอะมะเทิ่ง บ้าบอ โกลาหล กลับเต็มไปด้วยอารมณ์อันท่วมท้นในทุกฉากทุกตอน แน่นอนที่สุด สิ่งที่ทำให้มันโดนใจผู้ชมทุกคน ไม่ใช่แค่การโหมกระหน่ำสิ่งตระการตา สิ่งพิลึกพิลั่น ตรรกะล้ำๆ ฉลาดๆ ของมัลติเวิร์ส ฉากแอ็คชั่นลุ้นระทึก โลกซ้อนทับที่โคตรเวียร์ด มุกตลกเพี้ยนๆ หรือทีท่าเท่ๆ ที่เราได้แต่ร้องว่า “คิดได้ไงวะ” แต่เพราะมันพูดถึงสายสัมพันธ์ของความเป็นครอบครัวที่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แล้วมันก็เชื่อมโยงทาบทับเข้ากับประสบการณ์ของทุกคนได้อย่างง่ายดาย

ในวันแสนวุ่นวายของ Evelyn ที่เธอต้องตื่นมาเตรียมเอกสารเพื่อไปพบเจ้าหน้าที่สรรพากร ต้องดูแลพ่อวัยชราที่เพิ่งย้ายข้ามประเทศมารักษาตัวที่อเมริกา ต้องเตรียมจัดงานปาร์ตี้ที่ร้านซักรีดอันเป็นธุรกิจของเธอและสามี ต้องรับมือกับลูกสาวผู้เหนื่อยหน่ายชีวิตที่อยากจะพาแฟนสาวมาเปิดตัวในงานปาร์ตี้ด้วย และไหนจะสามีที่ไม่เอาไหนของเธออีกล่ะ อยู่ๆ Waymond สามีของเธอในอีกจักรวาลก็โผล่ขึ้นมาเพื่อขอร้องให้เธอช่วยทำบางสิ่งบางอย่าง ก่อนที่วายร้ายจากอีกจักรวาลจะทำลายทุกคนในทุกจักรวาลด้วยหลุมดำที่มีหน้าตาเหมือนขนมปังเบเกิล แต่ผู้หญิงธรรมดาๆ อย่างเธอจะทำอะไรได้เล่า คำตอบอยู่ที่เคล็ดลับการดึงทักษะพิเศษจากตัว Evelyn ในจักรวาลอื่นมาใช้ โดยเธอจะต้องทำสิ่งประหลาดๆ ที่ตัวเองไม่มีทางทำในโลกใบนี้ แล้วกดปุ่มที่หูฟังวิเศษ จากนั้นทักษะนั้นๆ ถูกโปรแกรมใส่เข้ามาในตัวเธอได้ และมันก็กลายเป็นที่มาของฉากเพี้ยนๆ มุกตลกสุดฮา และเปิดจักรวาลต่างๆ ที่เราจะได้เห็น Evelyn อีกร้อยแบบ

โอเค การเอาประเด็นครอบครัวมาร้อยเรียงเข้ากับการเป็นหนังแอ็คชั่นแฟนตาซีมันก็ฟังดูดีนะ แต่มันยิ่งดีขึ้นอีกพันเท่า เมื่ออยู่ในมือของสองผู้กำกับ/เขียนบทอย่าง Dan Kwan และ Daniel Scheinert (ทั้งคู่ร่วมกันทำหนังเพี้ยนอย่าง Swiss Army Man ที่ Daniel Radcliffe เล่นเป็นศพทั้งเรื่องมาแล้ว) เพราะบทหนังมันฉลาดมาก แม้กระทั่งในฉากแอ็คชั่นบ้าๆ บอๆ พอบทจะขยี้ดราม่าขึ้นมา มันก็ซัดเราเอาตายไปเลย แล้วดราม่าครอบครัวที่ว่าก็จัดหนักจนเราน้ำตาแตกในทุกซีนที่หนังขยี้เลย ไล่มาตั้งแต่พาร์ตแม่กับลูกสาวที่ไม่ลงรอยกัน การสร้างบาดแผลให้กันและกันโดยไม่ตั้งใจมันเป็นอะไรที่คลิเช่มากนะ แต่พอหนังมันไม่ได้พูดผ่านๆ แต่ค่อยๆ หยอด ค่อยๆ เล่า แล้วหาทางลงให้ตัวละครได้สมจริงแบบนั้น มันก็ยิ่งทำให้เรารัก (ชอบมากๆ ด้วยที่การใช้ฉากแฟนตาซี อย่างการเดินเข้าไปสู่หลุมดำของตัวละคร Joy [ชื่อลูกสาวของ Evelyn ที่แปลว่า “ความสุข” แต่เธอไม่เคยมีความสุขเลย] แทนค่าได้กับการฆ่าตัวตาย แล้วการหยิบเอาประเด็นลูก LGBTQ+ กับพ่อแม่มาเล่น มันก็ยิ่งทำให้หนังมีพลังมากขึ้นไปอีก ชอบฉากที่สุดท้าย แม่ผู้ดูเหมือนจะรับได้ที่ลูกสาวมีแฟนเป็นผู้หญิงก็เผลอหลุดปากออกมาว่า จริงๆ แล้วเธอไม่ได้แฮปปี้ และคิดว่ามีสิ่งชั่วร้ายบางอย่างทำให้ลูกเธอเป็นแบบนั้น), ฉากพ่อวัยชราของ Evelyn ที่โผล่มาเถียงกับลูกสาวในช่วงท้ายๆ และการปลดล็อกของ Evelyn นั้นก็ดีมากๆ ความเจ็บปวดที่เคยถูกพ่อแม่กระทำด้วยความหวังดีกลายเป็นบาดแผลที่มันส่งต่อกันไปไม่รู้จบ และมันก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเค้าจะต้องสื่อสารกัน

แต่ประเด็นที่เราชอบมากที่สุด กลับเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่อยู่กินกันมานาน ล้มลุกคลุกคลานกันมาทั้งชีวิต และเมื่อถึงวันที่เหนื่อยล้ามากๆ มันก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า นี่ฉันทำอะไรอยู่วะ นี่ฉันเลือกคนผิดหรือเปล่า ชีวิตฉันจะเป็นยังไงนะ ถ้าฉันไม่ได้ลงเอยกับอีตาคนข้างๆ นี้ โอ้โห หนังขยี้แล้วขยี้อีกในหลายๆ ฉาก และพอถึงฉากหว่องๆ ที่ตัวละครแค่ยืนพูดกันในตรอกแคบๆ ในแสงสีที่ชวนให้คิดถึงหนังอย่าง In the Mood for Love ฉากนั้นทำเราน้ำตาไหลอาบหน้าไปหนึ่ง! และไหลท่วมเมื่อถึงฉากท้ายๆ ที่ตัวละครสามีอย่าง Waymond ทำให้เห็นว่าสามีที่ดูเหมือนไม่เอาไหนคนนี้รักเธอมากแค่ไหน และการมองโลกในแง่ดีบางทีมันก็ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้นะ

ทีมนักแสดงของ Everything Everywhere All at Once คือสิ่งดีงาม Michelle Yeoh ได้โชว์ศักยภาพตัวเองแบบรอบด้าน และทำได้ดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับ Jamie Lee Curtis ที่มาน้อยแต่มานะ ฉากสุดท้ายของหนังที่ตัวละครของเธอนั่งคุยกับ Evelyn ทาบทับกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในมิติจักรวาลที่มนุษย์มีนิ้วเป็นไส้กรอกนั้นดีมากจริงๆ แต่ที่เราเซอร์ไพรส์มากๆ ก็คือ 3 นักแสดงที่เหลือ James Hong คือนักแสดงวัย 93 ปีที่เล่นหนังมาตั้งแต่ยุค 50 ยังแข็งแรงและแสดงหนังได้ดีอย่างน่าทึ่ง, Stephanie Hsu โอ้โห บท Joy ในภาวะซึมเศร้าหดหู่นั้นทำได้มากแล้ว พอกลายร่างเป็นปีศาจยิ่งเพี้ยนคลั่งได้ใจจังเลย และ Ke Huy Quan คือความมหัศจรรย์ของหนังอย่างแท้จริง การแยกคาแร็คเตอร์ของ Waymond ในแต่ละจักรวาลให้ขาดออกจากกันได้ด้วยบุคลิก น้ำเสียง และแววตานั้นน่าทึ่งมาก แล้วฉากแอ็คชั่นที่เจ๋งราวกับเฉินหลงนั่นล่ะ แล้วฉากดราม่าเท่ๆ กับฉากดราม่าบีบเค้นน้ำตานั่นอีก โอ้โห นี่คือนักแสดงเด็กที่โด่งดังจาก Indiana Jones and the Temple of Doom แล้วไม่ได้มีผลงานสลักสำคัญอะไรอีกเลย เพราะไม่มีพื้นที่ให้นักแสดงสายเลือดเอเชียอย่างเค้าได้ทำงาน มันน่าเสียดายเหลือเกินที่นักแสดงที่มีพรสวรรค์อย่างเค้าเพิ่งจะได้รับโอกาสในปีนี้เอง หลังจากผ่านเวลามาหลายสิบปี

เห็นหลายคนบ่นว่า ตามเรื่องไม่ค่อยทัน แต่อีกหลายคนก็ย้ำว่า ต่อให้ตามเรื่องไม่ทันหรือไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ของหนังก็ยังดู Everything Everywhere All at Once #ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ได้สนุกอยู่ดี เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

Everything Everywhere All at Once (2022) - IMDb